วิถีนักอ่านของหมอ
》ตอนประถมต้น อ่านนิทานเป็นเรื่องๆ ตามนิตยสาร สตรีไทย หญิงไทย สตรีสาร ไม่เคยมีนิทานภาพเป็นของตัวเอง
》อ่านหนังสือเองได้ตอน ป.1-2
ชอบอ่าน มานะ มานี ยืมนิทานพื้นบ้านจากห้องสมุดโรงเรียน ปลาบู่ทอง นางสิบสอง นกกระจาบ สังข์ทอง ฯลฯ
》 พอ ป.3-4 อ่าน นิกกับพิม ตินติน เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก พวกประวัตินักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลก
》 ป.5-6 การ์ตูนโดเรมอน ดราก้อนบอล ขายหัวเราะ มหาสนุก การ์ตูนไทยเล่มละ 1 บาท 5 บาท 10 บาท นิยายจีนกำลังภายใน
》 ตอนมัธยม เข้าสู่วงการ การ์ตูนญี่ปุ่นเต็มตัว เพราะอยู่หอพัก แถวหอพักมีร้านเช่าการ์ตูน
มีหนังสือแทรกบ้าง เป็นแนวหลอนๆ เช่น ศพใต้เตียง
อ่านการ์ตูน มันเกือบทุกเรื่องที่เค้าว่าดัง ทั้งแนวหญิงชาย slamdunk, อิตโต้, prince tennis, คินดะอิจิ, ฉินมี่, GTO, death note, hunterxhunter, นารุโตะ ฯลฯ ผู้หญิงก็สะสม หน้ากากแก้ว (ทุกวันนี้ยังตามซื้อ ใครอยู่ญี่ปุ่นช่วยบอกทีใครได้แสดงนางฟ้าสีแดง)
》 พอขึ้นมหาลัย ยังอ่านการ์ตูนเล่มที่ต้องอ่านต่อเนื่อง(ไม่จบซักที) กลับมาที่วรรณกรรมเยาวชนของโรอัล ดาห์ล, ฟรานเซส ฮอดจ์สัน เบอร์เน็ต, แฮรี่ พอตเตอร์ งานของนิโคลัส สปาร์ก ทุกเรื่อง เซต the ring, เซต ทไวไลท์ (เอาเป็นว่าเรื่องไหนอยู่ในกระแสจะอ่านหมด)
.
มีหลายครั้ง คุณพ่อคุณแม่วัยประถมที่ลูกอ่านหนังสือได้เองคล่องแล้ว ถามว่า
#ตอนนี้ลูกอ่านแต่การ์ตูน จะต้องทำอย่างไร?
วันก่อนพูดกันในคลับเฮ้าส์
คุณแม่ท่านหนึ่งเล่าว่า
ลูกชอบอ่านการ์ตูนวิทยาศาสตร์มาก
ไปปรึกษาคุณครู คุณครูแนะนำว่า ให้งดการ์ตูนไปก่อน ให้อ่านพวกวรรณกรรมเยาวชนแทน
.
น่าคิดจริงๆว่าทำไม ผู้ใหญ่จึงคิดว่า การ์ตูน ด้อยกว่าหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร
หมออยากแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้
ในมุมมองของตัวเอง
หมอก็คิดว่า ตัวเองสามารถพูดในมุมของคนที่อ่านทั้งการ์ตูนและหนังสือ
และตอนนี้มาเป็นแม่ที่อ่านหนังสือให้ลูกฟังมาเกือบ 7 ปีแล้ว
♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡
1.ถ้าเราอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
จนกระทั่งเค้าสามารถเป็นนักอ่าน
แปลว่า เป้าหมายของเราสำเร็จแล้ว
เพราะที่อ่านให้ฟังทุกวันอยู่นี่
คือจะสร้างนักอ่าน รุ่นต่อไป มิใช่หรือ
เมื่อเค้าอยากอ่านด้วยตัวเอง
#อย่าดูแคลนสิ่งที่เค้าเลือก
2. เราต้องไว้ใจตัวเองว่า เวลาที่ผ่านมา
เราได้ใส่เข็มทิศของความดีงามไว้ในใจลูกเรียบร้อยแล้ว ถึงจะเจอเนื้อหาไม่เหมาะสม
ให้มองว่า ลูกมีโอกาสได้ใช้งาน critical thinking โดยมีเราเป็นโค้ช เค้าต้องรับข้อมูลได้ทั้งข้อมูลบวกและลบ ต้องเชื่อใจว่าลูกที่เราอ่านให้ฟังมาตั้งนาน(ใส่ทัศนคติที่ดี) ต้องรู้ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี
ถ้ายังไม่สบายใจ ให้แอบอ่านการ์ตูนที่ลูกอ่าน แล้วมีอะไรที่อยากสอนเพิ่มเติม ค่อยมาชวนคุยแบบเนียนๆ
3.เด็กวัยอ่านเองได้ เค้าฉลาดมากพอ
ถ้าอ่านแล้วถูกแม่ดุอยู่ร่ำไป ต่อไปเค้าจะไม่อ่านให้แม่เห็น #คนที่เสียโอกาสคือเรามิใช่ลูก
เพราะเราได้รู้เห็นว่าลูกอ่านอะไรอยู่ เป็นเรื่องที่ดี เราจะได้รู้ว่า เนื้อหาข้างในมีอะไรที่เราจะชวนลูกคุยเพิ่มเติมได้หรือไม่ แต่ถ้าลูกเบื่อคำบ่นเรา
เค้าไม่ได้เลิกอ่าน #แต่เค้าจะเลิกอ่านให้เราเห็น (หมอกลับจากโรงเรียนซื้อการ์ตูนเหน็บขอบกระโปรง เข้าไปแอบอ่านในห้องน้ำ บางทีแอบอ่านใต้ผ้าห่ม เพราะกลัวถูกแม่ดุ)
4.อย่าอคติกับคำว่า “การ์ตูน” เพราะการทำเนื้อหายากๆให้คนเข้าใจง่าย นักวาดนักเขียนต้องทำงานมาอย่างหนัก และการ์ตูนดีๆ มีมากกว่าการ์ตูนไม่ดี แค่มีภาพประกอบ ไม่ได้หมายความว่า #ไร้สาระ
สำหรับหมอ การ์ตูนหลายเรื่อง สร้างแรงบันดาลใจ และหมอคิดว่าเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในช่วงชีวิตหนึ่ง ทำให้เราผ่านอุปสรรคในชีวิตมาได้ และความรู้ที่ใช้ตอบอาจารย์สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ บางครั้งรู้มาจากการ์ตูน
(น่าเสียดายที่การ์ตูนเล่มสมัยนี้ ไม่เฟื่องฟูเหมือนเก่า
ย้ายไปอยู่ในเวปตูน ซึ่งเนื้อหา เราก็ไม่สามารถคัดกรองอะไรให้ลูกได้อีกแล้ว)
♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡♡
เด็กประถมต้น เพิ่งเข้าสู่วงการอ่าน
เมื่อแม่อ่านนิทานให้เค้าฟังมากพอ
เค้าก็อยากอ่านด้วยตัวเอง
นิทานภาพก็ดูเด็กไป
วรรณกรรมก็ตัวหนังสือยุ่บยั่บไปหมด
อ่านแล้วเหนื่อยเกินไปสำหรับเด็กบางคน
(ต้องสะกด กลายเป็นคำ เอาทีละคำมาร้อยเรียงเป็นประโยค เอาประโยคไปตีความ แล้วสร้างภาพในสมอง—ถ้ายังอ่านออกใหม่ๆ บอกเลยว่า เหนื่อย!!!)
มันก็ต้องมีตรงกลาง !!
ถามว่าตอนนี้ ในท้องตลาดมีอะไรเป็นทางเลือกให้เค้าบ้าง??
.
ก็ต้องเป็นการ์ตูนวิทยาศาตร์ ครอบครัวตึ๋งหนืด เอาตัวรอดใน….. ฯลฯ นี่แหละมั้ง
มีภาพ ไม่ต้องอ่านคำบรรยายสถานการณ์
ไม่ต้องสร้างตัวละครในสมองเอง
อ่านแต่คำพูด
มันลดงานของสมองได้มาก ที่สำคัญ มันสนุก
เรามักจะพูดว่า อ่านนิทาน อ่านเพื่อให้สนุกก็พอ
แต่ทำไมตอนเด็กอ่านการ์ตูนเพื่อความสนุก
พ่อแม่บอกว่าใช้เวลาไม่มีประโยชน์
หมองงจริงๆ???
(เหมือนออกมาเรียกร้องให้ตัวเองในอดีต)
.
ส่วนตัว หมอคิดว่า เด็กจะสนุกกับ
พวกการ์ตูนวิทยศาสตร์พวกนี้ได้ไม่นาน
เพราะตอนอ่านใหม่ๆ เด็กๆจะตื่นเต้นกับมุกตลก หัวเราะกับมุกเดิมๆได้
เรื่องแนวนี้ ตัวละครอย่างน้อย 1 ตัว จะต้องมีความบ๊อง ความเพี้ยน เพื่อเรียกเสียงหัวเราะ แต่พออ่านไปถึงจุดหนึ่ง…..เค้าจะรู้เองว่า มุกตลกซ้ำๆมันก็ไม่ตลกอีกต่อไป เพราะฉะนั้น เค้าจะอ่านแล้วรู้สึกไม่อิ่มเหมือนในตอนแรก
.
นี่จะเป็นก้าวต่อไปของเส้นทางนักอ่าน
.
แล้วไปไหนต่อ
.
นี่แหละที่เป็นจุดสำคัญ
ตอนนี้เด็กคงป.4-6 กันแล้ว
ถ้าไม่มีสะพานเชื่อมของการอ่าน
มือถือ เกมส์ และโซเชียลมีเดีย พร้อมเสียบกิจกรรมการอ่านทุกเมื่อ
.
ตอนนี้ เมื่อเค้าอิ่มกับการ์ตูนความรู้ต่างๆ
ความเร็วในการอ่านเพิ่มเท่าผู้ใหญ่แล้ว จินตนาการยังคงอยู่
การคิดฉาก คิดหน้าตาตัวละคร ด้วยตัวเองจะเป็นเสน่ห์ของหนังสือที่มีแต่ตัวอักษร
มันมีช่องว่างให้สมองเด็กเติมลงไป
ถ้าเราแนะนำให้ลูกรู้จักกับวรรณกรรมเยาวชน หรือหนังสือที่สนุกสนาน
เค้าจะเดินบนเส้นทางนี้ไปเรื่อยๆ
.
เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเรา ไม่ใช่ ห้าม ไม่ให้เค้าอ่านในสิ่งที่เค้าเลือกอ่านเอง
หน้าที่ของเราคือ เฝ้าดู
และนำเสนอหนังสือดีๆที่รอให้เค้ามาอ่านเองเมื่อพร้อม
ทำได้โดย #อย่าทิ้งการอ่านกับลูก
เวลาที่เราปล่อยให้เค้าพัก เค้าจะอ่านอะไรก็ได้ตามใจเค้า
แต่เวลาก่อนเข้านอนเป็นเวลาของแม่ แม่จะอ่านหนังสือดีๆให้ลูกฟัง
.
หมอเอง ถ้าถึงตอนนั้น ลูกจะอ่านการ์ตูนวิทยาศาสตร์ หมอคงไม่ว่า
แถมงัดการ์ตูนญี่ปุ่นสุดรักสุดหวงที่สะสมไว้มานำเสนอให้ด้วย
แต่เหมือนเดิม คือ ทุกอย่างอยู่ภายใต้กติกา
การ์ตูนเล่ม animation youtube ต้องอยู่ในเวลาที่กำหนด
อยากจะทำอะไรก็ไปจัดสรรเอาเอง
.
เพราะการอ่าน มันสร้างความสุข
อย่าทำลายความสุขในการอ่าน เพราะคำว่า “ไร้สาระ”
จะได้สาระหรือไม่ เด็กคิดได้เอง
หน้าที่เราคือ เติมสิ่งดีๆเข้าไปเพิ่ม
คิดแบบนี้ได้ ไม่มีใครเสียเลย มีแต่กำไร
.
ปล.ภาพถ่ายหนังสือการ์ตูนส่วนหนึ่งที่เก็บไว้ ยังหยิบมาอ่านเป็นระยะ
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี)