ก่อนอื่นเรามารู้จักประเภทของหนังสือที่มีผลกับพัฒนาการทางภาษาเริ่มต้นของเด็กๆ กันก่อนค่ะ
แม่หมีแบ่งได้คร่าวๆ 3 ประเภท คือ
1.หนังสือภาพทั้งแบบมีเรื่องราว (Fiction) และเชิงสารคดี (Non-Fiction)
2.หนังสือหัดอ่านตามระดับ (Leveled Books)
3.หนังสือเรียน
I ห นั ง สื อ ภ า พ I
ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สอนภาษาโดยตรง แต่การอ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังเป็นประจำตั้งแต่เล็กๆ การันตีว่าเด็กจะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี เพราะภาษาในหนังสือเหล่านี้ถูกคัดมาแล้วว่าเหมาะกับเด็กแต่ละวัย ทำให้เด็กประทับใจจนซึมซับได้ง่าย
I ห นั ง สื อ หั ด อ่ า น ต า ม ร ะ ดั บ I
มีทั้งแบบมีเรื่องราว (Fiction) และเชิงสารคดี (Non-Fiction) เช่นกัน เป็นชุดหนังสือที่พัฒนาขึ้นเพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านโดยเฉพาะ จัดเป็นลำดับการอ่านอย่างละเอียดสอดคล้องกับพัฒนาการเริ่มต้นทางภาษา โดยครูจะเป็นผู้จับคู่หนังสือให้เหมาะสมกับระดับการอ่านของเด็กแต่ละคน ชื่อที่ใช้เรียกหนังสือประเภทนี้แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อาทิ Leveled Books, Graded Books, Schemed Books เป็นต้น และมีระบบการจัดระดับที่แตกต่างกันไปตามมาตรฐานที่เลือกใช้ โดยบางประเทศคัดเลือกหนังสือภาพที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดให้มาเป็นหนังสืออ่านตามระดับที่เหมาะสมอีกด้วย
I ห นั ง สื อ เ รี ย น I
ปัจจุบันหลายๆ ประเทศไม่มีหนังสือเรียนสำหรับเด็กวัย 3-7 ปี แล้ว แต่อาศัยหนังสือหัดอ่านตามระดับเรียนวิชาต่างๆ บูรณาการไปพร้อมกับภาษา จะเหลืออยู่บ้างคือหนังสือแบบฝึกหัดหรือสอนการออกเสียงผสมเสียง
#ลักษณะของหนังสือภาพที่เหมาะกับเด็กในช่วงพัฒนาการภาษาเริ่มต้น
ทีนี้เรามาดูคุณสมบัติของหนังสือภาพที่ดี ที่จะช่วยเสริมพัฒนาการการอ่านเริ่มต้นกันค่ะ แม่หมีขอพูดถึงลักษณะโดยรวม ไม่ลงรายละเอียดตามลำดับมากนะคะ แต่จะไปลงรายละเอียดใน “หนังสือหัดอ่านตามลำดับ” (ในตอนต่อไป) เพราะเมืองไทยยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันค่ะ
คุณสมบัติของหนังสือด้านล่างนี้เป็นเกณฑ์ในการเลือกหนังสือภาพทั่วไป เพื่อนำมาใช้เสริมพัฒนาการการอ่านเริ่มต้นของเด็กๆ ซึ่งเมม ฟอกซ์ (Mem Fox) นักเขียนหนังสือเด็กและผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านกับเด็ก แนะนำไว้ คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสามารถเอาไว้ใช้เลือกหนังสือให้ลูก/ลูกศิษย์ได้ค่ะ
1. มีพล็อตเรื่อง มีที่มาที่ไป
2. เป็นเรื่องราวที่มีปัญหาให้แก้ไข ตื่นเต้น น่าติดตาม
3. สำหรับเด็กโต ควรเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน เชิงนามธรรม เด็กสนุกและมีอารมณ์ร่วมกับเรื่องราว
4. สำหรับเด็กเล็ก ใช้คำคล้องจอง ประโยคซ้ำๆ หรือการกระทำที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เพื่อสร้างแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์ สร้างจังหวะของเรื่อง อ่านแล้วไหลลื่น
5. มีความแปลกใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ภาษาที่เหนือความคาดหมาย
6. พิถีพิถันในการเลือกใช้คำศัพท์และจังหวะของภาษา ใช้ภาษาธรรมชาติ
7. ใช้ตัวละครที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกผูกพันอย่างลึกซึ้ง
8. ห้ามสั่งสอน หรือเทศนา
9. สอดแทรกประเด็นเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันและคุณค่าที่สังคมยึดถือผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ อย่างแนบเนียน
10. ให้ความสุข และสื่อสารโดยตรงกับหัวใจของเด็กๆ
แหล่งข้อมูล FB อ่าน อาน อ๊าน