งานวิจัยด้านสมองและจิตวิทยาในระยะ 10 ปีหลังช่วยให้เรามั่นใจในเรื่องบางเรื่องที่หลายบ้านทำอยู่แล้ว และส่งสัญญาณเตือนว่าระบบการศึกษาอาจจะกำลังทำอะไรผิดพลาดเกี่ยวกับการอ่านและการเขียนในชั้นเด็กเล็ก
ความสามารถในการอ่านเกิดขึ้น 3 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 เรียกว่าระยะ photographic
คือเด็กเล็กจะ “ถ่ายรูป” คำที่เห็นโดยไม่แยกรายละเอียด เช่น คำว่า cocacola คุณแม่อ่านว่า โคคาโคลา เมื่อเด็กเห็นคำว่า crocodile เด็กก็จะระลึกถึงเสียง โคคาโคลา อยู่ดี
จะเป็นเด็กอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ฮิบรู ไทย ก็ใช้วิธีเดียวกัน
หากให้ยกตัวอย่างภาษาไทย (ข้อเขียนนี้เก็บความจากภาษาอังกฤษ) เช่น โลกาภิวัตน์ คุณแม่อ่านว่า โล-กา-พิ-วัด เมื่อเด็กเห็นคำว่า โลกาวินาศ เด็กก็จะระลึกถึงเสียง โล-กา-พิ-วัด อยู่ดี
จะให้ยกตัวอย่างภาษาจีนได้ เกรงว่าจะตีพิมพ์ยาก
ส่วนท่านที่รู้จักภาษาญี่ปุ่น ยิว และอาหรับ จะลองฝึกยกตัวอย่างเล่นๆก็ได้ จะได้เข้าใจมากขึ้น
ขั้นที่ 2 เรียกว่าระยะ phenographic
เด็กเล็กเริ่มถอดรหัสหน่วยคำหรือ grapheme เป็นหน่วยเสียงหรือ phoneme กล่าวคือเด็กเริ่มมีความสามารถแยกรูปที่ถ่ายออกเป็น คำ และ อักษร โดยมีเสียงคุณแม่เป็นผู้ช่วยเหลือ พัฒนาการนี้เกิดขึ้นในสมองส่วน occipito-temporal letterbox คือคลังคำ เหนี่ยวนำให้เกิดวงจรประสาทที่จะพัฒนาตนเองเรื่องการอ่านต่อไปในอนาคต
ขั้นที่ 3 เรียกว่าระยะ orthographic
วงจรประสาทการอ่านนี้จะพัฒนาตนเองด้วยตนเองอย่างรวดเร็วและอัตโนมัติ (fast&automatic) นำไปสู่การเขียนหนังสือด้วยตนเองได้อีกโสตหนึ่ง
เรื่องที่เราเพิ่งรู้คือสมองของเด็ก 12 เดือนแรกพร้อมแล้วสำหรับปฏิบัติการขั้นที่ 1 และ 2 คือถ่ายรูปแล้วแยกคำ โดยใช้เสียงแม่เป็นเครื่องมือ หลังจากนั้นจะก่อร่างสร้างตัววงจรประสาทที่จะพัฒนาตัวเองอัตโนมัติได้ในอนาคต
คำว่าก่อร่างสร้างตัวนี้แปลมาจากคำว่า wiring คือวางขดลวด
กล่าวคือสมองของทารก 12 เดือนแรกไม่เคยนิ่ง มีการวางขดลวดอยู่ตลอดเวลา
กระบวนการ 3 ขั้นตอนเกิดขึ้นไล่เรียงตามลำดับทุกวันๆ ตั้งแต่ทารก ผ่านช่วงเด็กเล็ก จนเป็นเด็กโต เร็วช้าต่างๆกันไป
อายุเพียง 3 เดือน คลังคำก็เริ่มทำงาน
พอ 6 เดือน ทารกเริ่มเก็บเสียงสระของภาษาแม่-mother tounge เอาไว้แล้ว
พอครบปีทารกลงทะเบียนภาษาแม่เสร็จแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือเสียงที่ทารกเริ่มได้ยินในท้องแม่ระยะท้ายของการตั้งครรภ์
เด็กญี่ปุ่นไม่แยกเสียง r กับ l เด็กอินเดียนแดงมีเสียง t หลากหลายรูปแบบ คนเหนือ คนอีสาน คนใต้มีวรรณยุกต์ของท้องถิ่นตนเองซึ่งวรรณยุกต์ภาคกลางทำไม่ได้
นั่นคือลำพังไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา ไม่พอใช้สำหรับเสียงท้องถิ่น
หากวงจรนี้ดีในขวบปีแรก ระหว่างขวบปีที่ 1 และ 2 เด็กเล็กจะเริ่มแยกรูปร่างของอักษรคือ morpheme เช่น เมื่อเส้นตรง 2 เส้นมาพบกัน เกิดเป็น L T X V ได้
หากให้ยกตัวอย่างภาษาไทยน่าจะเป็น ม้วนอย่างไรได้ ก ถ ภ หรือ ม น เป็นต้น
เมื่ออายุครบ 2 ปี วงจรประสาทจะพัฒนาตนเองโดยเก็บคำศัพท์ใหม่ๆ เข้าสู่คลังคำได้วันละ 10-20 คำ และมากขึ้นทุกวันรวมทั้งกำหนดและแก้ไขไวยากรณ์ได้เอง พ่อแม่ที่เล่นบทบาทสมมติกับลูกขอให้สังเกตวิธีสร้างและแก้ไขประโยคของลูกตอนอายุ 3-4 ขวบดีๆ สนุกมาก
เมื่อถึง 6 ขวบวงจรนี้จะสมบูรณ์แบบและพร้อมที่จะเริ่มต้นเรียนอ่านเขียนอย่างจริงจัง การสอนหนังสือจะเข้ามามีประโยชน์ที่ขั้นตอนนี้ ไม่เร็วไปกว่านี้
เห็นความสำคัญของหนังสือเด็กเล็กภาพใหญ่ๆ ตัวหนังสือใหญ่ๆ คำไม่มาก และการอ่านหนังสือให้ลูกฟังโดยเริ่มได้ทันที หรือเมื่อลูกอายุ 3 เดือนแล้วหรือยัง
โดยไม่มีความจำเป็นต้องเร่งการอ่านและเขียนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เด็กทุกคนจะวางขดลวดเรียบร้อยพร้อมแก่การเรียนที่มีประสิทธิภาพที่สุดเมื่ออายุ 6-7 ขวบ
ส่วนเรื่องเร่งเรียนเขียนอ่านตั้งแต่ 3 ขวบโดยที่สมองของเด็กยังไม่พร้อมจะเกิดความเสียหายอะไรต่อสมองนั้นยังไม่มีหลักฐาน แต่ที่พอจะตั้งสมมติฐานได้คือเสียเวลาเล่น
และการเล่นสำคัญต่อการวางขดลวดอย่างทั่วถึงมากกว่าทุกสิ่ง
แหล่งข้อมูล นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์, Health Today กรกฎาคม 2560 จาก FB อ่าน อาน อ๊าน