จากผลสำรวจของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ซึ่งสำรวจกลุ่มเด็กอายุ ๑-๕ ปี และ ๖- ๑๔ ปี ใน ๒๐ จังหวัด
พบว่าครอบครัวไทย ผู้เลี้ยงดูเด็กเป็นแม่ร้อยละ ๖๓ รองลงมาเป็นปู่ย่าตายาย
ร้อยละ ๒๕ ส่วนพ่อมีเพียงร้อยละ ๗
แสดงให้เห็นว่า สภาพความเป็นจริงทางสังคมสะท้อนออกมาในหนังสือภาพสำหรับเด็ก
ในการสำรวจครั้งเดียวกันระบุว่า เด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
โดยพบ ว่า ๑ ใน ๓ ของเด็กอายุ ๖-๑๔ ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน
เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน
ทำให้เด็กบางส่วนไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย
จากการวิเคราะห์ประเด็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ในหนังสือคัดสรร
มีข้อน่าสังเกตที่พบว่า หนังสือที่แต่งโดยคนไทย
ไม่มีการนำเสนอในประเด็น “ไม่ใช้ความรุนแรง”
หนังสือของไทยส่งเสริมในเรื่อง “ความสุภาพ”
ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณธรรมพื้นฐาน ๘ ประการ ตามแนวทางของกระทรวง ศึกษาธิการ
แต่เป็นลักษณะความสุภาพด้วยการใช้คำพูด
เช่น พูดมีหางเสียงครับ/ค่ะ หรือทักทาย ด้วยการยกมือไหว้สวัสดีกับผู้ใหญ่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรง พบในกลุ่มของหนังสือแปล
.
หากมองในแง่บริบททางสังคม (ของผู้เขียน)
สังคมไทยให้ความสำคัญกับลำดับชั้นทางสังคม มีระบบอาวุโสสูง- ต่ำ
จึงสะท้อนความสุภาพอ่อนน้อมมีสัมมาคารวะออกมาทางหนังสือภาพ
ส่วนสังคมของผู้เขียนหนังสือที่นำมาแปล ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันทางสังคม
ลักษณะของความสุภาพจึงสื่อออกมาด้วยการไม่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ไปทำร้ายผู้อื่น