#สมองลูกเกิดอะไรขึ้น_เมื่อคุณอ่านหนังสือให้เค้าฟัง
#บทความส่งเสริมการอ่าน_ตอนที่ 1
.
อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เป็นเรื่องที่ดี
หมอคิดว่า พูดเช่นนี้ ใครๆก็คงจะรู้แล้ว
หากย้อนกลับไปสัก 50 ปีก่อน
ที่เทคโนโลยี ยังไม่ทันสมัยขนาดนี้
ถ้าเราจะวัดว่า อ่านหนังสือให้เด็กฟังมันดียังไง
ก็คงบอกว่า
เด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง หรือเด็กที่รักการอ่าน
จะประสบความสำเร็จมากกว่า
(มักจะวัดจาก ผลการเรียน การจบมหาวิทยาลัย คะแนนสอบ ฯลฯ)
ตัวชี้วัด ในงานวิจัยส่วนใหญ่
เป็นเรื่องในอนาคตของเด็กคนนั้น
ซึ่งสำหรับนักวิจัยที่ดี การจะบอกได้ว่า
เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จได้ดีกว่าอีกคนเป็นเพราะ การอ่านที่มากกว่า
คงต้องตัดปัจจัยกวนทั้งหมดออก
(confounding factors)
ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เช่น เชื้อชาติ ฐานอารมณ์ของเด็ก สติปัญญาของเด็กเอง รายได้และการศึกษาพ่อแม่ โรงเรียน ฯลฯ
แถมยังมีปัจจัยกวนที่เราไม่สามารถวัดเป็นค่าตัวเลขได้อีกมากมาย
นักวิจัยก็ได้แต่เพียงอนุมานผล
ดังนั้นในงานวิจัยยุคก่อน
แม้ผลจะชัดเจนมากแค่ไหน ก็ยังมีข้อค้านได้
ลองคิดดูดีๆ เด็กที่ได้อ่านหนังสือมากกว่า
เป็นเพราะอะไร??
พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการอ่าน
มีเวลาให้ลูก ไม่ต้องปากกัดตีนถีบ หาเช้ากินค่ำ
มีเงินซื้อหนังสือ หรือพ่อแม่ขวนขวายในการหาหนังสือให้ลูกอ่าน
ซึ่งมักจะสัมพันธ์โดยตรงกับ ระดับการศึกษา รายได้ เศรษฐานะของพ่อแม่ (ถ้าเป็นยุคนี้ต้องบอกว่า ความรู้และ mindset) แม้แต่นโยบายรัฐ
.
การศึกษาที่โด่งดังมาก ในอดีต
(งานวิจัยในปี 1960) เป็นที่มาของคำว่า
“ช่องว่าง 30 ล้านคำ” ศึกษาพัฒนาการด้านภาษาในเด็กอายุ 2.5 ปี ใน 42 ครอบครัว
โดยแบ่งครอบครัวเป็น
ฐานะดี ฐานปานกลาง และกลุ่มยากจน
นักวิจัยจะเข้าไปประเมินพัฒนาการด้านภาษาของเด็กทุกเดือน เก็บข้อมูลการเลี้ยงดูอย่างละเอียด
จนเด็กอายุครบ 4 ปี พบว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานะดี เด็กมีคลังศัพท์ 46 ล้านคำ
ในกลุ่มปานกลาง มีคลังศัพท์ 26 ล้านคำ ในขณะที่เด็กที่อยู่ในกลุ่มฐานะยากจน มีคลังศัพท์ 13 ล้านคำ
และนักวิจัยยังรายงานอีกว่า 98%ของคำศัพท์ที่เด็กใช้ คือสิ่งคำที่พ่อแม่ใช้ พ่อแม่พูดคุยกับลูก
(พูดให้ตรงมากขึ้น คือ #เด็กเรียนรู้ภาษาเกือบทั้งหมดผ่านจากปากของพ่อแม่)
หลังจากที่วิจัยนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็ทำให้วงการปฐมวัย สั่นสะเทือนเลยทีเดียว (ไม่ได้เว่อนะคะ)
เพราะนักวิจัยสนใจทำวิจัยเรื่องปฐมวัยมากขึ้น
และรัฐบาลของ US สมัยนั้น
ก็ทุ่มงบประมาณให้กับการพัฒนาด้านปฐมวัยมากขึ้นด้วย
อย่างนั้นก็เถอะ
นักวิจัยรุ่นหลังก็มีข้อกังขาหลายอย่าง
เช่น จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยมาก 42 ครอบครัว สามารถเป็นตัวแทนของเด็กทั้งประเทศเลยหรือ?
การเก็บข้อมูลทำอย่างไร นับจำนวนศัพท์อย่างไร? เด็กอายุแค่ 2.5-4 ขวบ
มีคนแปลกหน้าไปสัมภาษณ์ เด็กพูดน้อย ถือว่าเด็กมีศัพท์น้อย? มีข้อสงสัย และข้อโต้แย้งมากมาย
หลังจาก งานวิจัยนี้ ก็มีงานวิจัยเรื่อง
พัฒนาการด้านภาษาในเด็กเล็กเต็มไปหมด
.
สำหรับตัวหมอเองในฐานะนักวิจัย ก็ต้องยอมรับว่า งานวิจัย 30 million gap มีจุดบกพร่องมากมาย
แต่ก็ต้องยกย่องงานวิจัยนี้ เพราะถือว่าเป็น viral information ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้
.
ตัดมาที่ปัจจุบันเลยค่ะ
ยุคนี้ วิทยาศาสตร์สมอง
มีเทคโนโลยีทันสมัย ไม่ต้องคาดเดา
สามารถถ่ายรูปการทำงานของสมองได้แบบ real time (เอาให้เห็นกันจะจะ)
งานวิจัยแรกที่จะเล่าให้ฟัง เป็นงานวิจัยของ Dr. John S. Hutton
เพื่อจะตอบคำถามว่า
#สื่อแบบไหนที่กระตุ้นให้สมองเด็กเกิดการเชื่อมโยงด้านภาษาได้มากที่สุด
โดยทำการศึกษาในเด็กอายุ 4 ขวบ 27 คน
ให้เด็กแต่ละคน ฟังนิทานเรื่องเดียวกัน จาก 3 สื่อ
และถ่ายภาพสมองเด็กจากเครื่อง fMRI ขณะที่ได้ฟังแต่ละสื่อ
นิทานเป็นแบบ animation
นิทานเป็นเล่มให้แม่อ่าน
นิทานที่มีแต่เสียง
- ผลคือ animation มีข้อมูล ภาพ เสียง การเคลื่อนไหว แค่รับข้อมูลอย่างเดียว สมองเด็กก็ต้องทำงานหนักมากแล้ว เมื่อดูจาก fMRI สมองส่วนอื่น ถูกกระตุ้นอย่างมาก แต่ส่วนที่ควบคุมด้านการเรียนรู้ภาษากลับถูกกระตุ้นน้อย
เพราะสมองเอาพลังงานไปรับข้อมูลที่มากล้น รวดเร็ว จนเชื่อมโยงไม่ทัน เรียกว่า #Too_hot
- นิทานภาพ: สมองของตอนเด็กขณะได้ฟังนิทานภาพ สมองส่วนรับภาพรับเสียงถูกกระตุ้น และพบว่า สมองส่วนภาษาถูกกระตุ้นมากพอกัน
อธิบายได้ว่า เมื่อมีภาพ และมีเสียง ทำให้เด็กเข้าใจ เรียนรู้ และเชื่อมโยงภาษาได้ดี เรียกว่า #just_right
- audio: สมองเด็กตอนฟัง นิทานเสียงไม่มีภาพ สมองถูกกระตุ้นน้อย อาจเพราะมีเสียง แต่ศัพท์บางคำเด็กไม่เคยรู้จักมาก่อน เมื่อไม่มีภาพมาให้ดู ก็ไม่เกิดการเชื่อมโยง เรียกว่า #too_cold
** การศึกษานี้ ตอกย้ำว่า ถ้าจะให้ลูกฟังนิทาน สิ่งที่ดีที่สุดคือ ฟังจากนิทานภาพ และเสียงของพ่อแม่นะคะ*
งานวิจัยที่ 2 ที่หมออยากจะเล่าให้ฟัง
เพื่อจะตอบคำถามว่า
#เด็กที่ได้อ่านต่างกันที่บ้าน_เมี่อมาฟังนิทานจากครูที่โรงเรียนสมองทำงานต่างกันหรือไม่
การศึกษานี้ทำในประเทศอังกฤษในเด็ก 3-5 ปี
30 ราย นักวิจัยเก็บข้อมูล ระดับการอ่านของที่บ้านเด็กแต่ละคน
(เวลาที่พ่อแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง, จำนวน ความหลากหลาย)
และแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่มีสิ่งแวดล้อมในการอ่านที่บ้านสูง
และ กลุ่มอ่านน้อย
เมื่อถ่ายภาพสมองเด็กด้วย fMRI ตอนเด็กฟังนิทานจากครูที่โรงเรียน
พบว่าสมองของเด็กกลุ่มสิ่งแวดล้อมอ่านสูง ถูกกระตุ้นมากกว่า เด็กอีกกลุ่มอย่างชัดเจน
(ดูภาพประกอบได้ สีแดง จะเกิดเมื่อบริเวณนั้นของสมองถูกกระตุ้น)
ซึ่งหมอเคยเขียนถึงงานวิจัยนี้เอาไว้ในบทความเรื่อง
#ช่องว่างที่ไม่มีวันตามทัน นะคะ
ลองย้อนกลับไปอ่านกันได้
.
คิดว่าเรื่องที่เล่าวันนี้ ทำให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่าน
มั่นใจในแนวทางการเลี้ยงดูลูกด้วยหนังสือมากขึ้น
และหมอคิดว่า เราสามารถส่งต่อความรู้นี้ได้
เพราะวิธีการที่ลดความเหลื่อมล้ำ โดยที่พวกเราสามารถสร้างให้ลูกได้เองที่บ้าน
โดยไม่ต้องพึ่งนโยบายใดๆ คือการสร้างความเท่าเทียมให้กับสมองของลูก
ที่ต้องสร้างจากที่บ้าน เพราะถ้ารอให้ถึงอนุบาล….ก็สายไปเสียแล้วจริงๆ
ภาพถ่ายสมองก็บอกคำนี้เหมือนกันค่ะ
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี)