พ่อแม่จำนวนมากอาจจะไม่ทันคิด หรือตระหนักว่า
ทารกทุกคนเริ่มย่างเข้าสู่เส้นทางแห่ง ‘การอ่าน’
นับตั้งแต่วันที่พวกเขาลืมตาขึ้นมาดูโลก
พ่อแม่เคยสังเกตไหมคะว่า ลูกน้อยของเรารู้จักหยุดนิ่งเพื่อฟังเสียงเมื่อเราเข้ามาใกล้
หรือเริ่มส่งเสียงและหันหาเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เราพูดคุย
ส่งเสียง อือๆ อาๆ ชี้ชวนให้ดูนั่น ดูนี่
หรือการที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ตอบสนองต่อเสียงร้องของทารกน้อย
สิ่งเหล่านี้คือก้าวแรกที่จะนำพาเขา เข้าสู่หนทางการเรียนรู้ภาษา
ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การอ่านและการเขียนต่อไป
แม้ว่าทารกตัวน้อยๆ จะยังไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาสาระจากหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้ฟังก็ตาม
ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ เพราะนั่นไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยของเราจะไม่สามารถเรียนรู้อะไรเลย
การที่เด็กทารกได้ยินได้ฟังเสียง เขาจะเริ่มให้ความสนใจ เริ่มหัดแยกแยะระดับเสียงที่แตกต่างกัน
ทารกตัวน้อยๆ ชื่นชอบที่จะได้ยินเสียงของพ่อแม่ขณะอ่านหนังสือ ขณะร้องเพลง หรือโอบอุ้ม
ในช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกัน พ่อแม่ควรถือโอกาสส่งเสียง พูดคุยกับเขาเสมอๆ
ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ลูกยังแบเบาะ ทำให้เป็นกิจวัตรขณะที่ง่วนอยู่กับลูก
เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้การฟังไปทุกขณะ
เมื่อทารกน้อยเริ่มเติบโตสู่วัยเด็กเล็ก ‘การอ่านหนังสือด้วยกัน’ จึงเริ่มต้น
ไม่ใช่แค่การอ่านเพื่อให้ได้ยินแต่เสียงเหมือนเมื่อครั้งลูกยังเป็นทารกอีกต่อไปแล้วค่ะ
แต่กลายมาเป็นการอ่านหนังสือภาพสำหรับเด็กที่มีรูปภาพเชิญลูกได้มองดู
และพ่อแม่ได้ใช้มือประกอบการอ่านไปด้วย
โดยพ่อแม่ชี้ให้ลูกดูตามภาพไปทีละภาพ ทีละหน้า
ชี้ชวนให้ลูกมองดูสี ของรูปภาพวัตถุสิ่งของที่ปรากฏในหนังสือ
หรือรูปภาพต่างๆ นานาในหน้าหนังสือ และอ่านออกเสียงไปด้วย
บางครั้งอาจจะชี้ที่ตัวอักษร ลูกก็จะไล่สายตาตามนิ้วมือพ่อแม่
บางครั้งอาจจะชวนให้ลูกเป็นคนเปิดพลิกหน้าหนังสือเองบ้าง
ในกระบวนการนี้ ลูกน้อยก็จะเริ่มเรียนรู้ว่า การอ่านตัวหนังสือนั้นจะต้องพลิกอ่านจากซ้ายไปขวา
และการเปิดพลิกหน้าหนังสือต้องพลิกจากหน้าขวาไปทางซ้าย
หลายครั้งที่พ่อแม่กังวลใจว่าลูกจะไขว่คว้ายื้อแย่งหนังสือมาฉีก
ซึ่งความจริงเด็กๆ มิได้มุ่งทำลายหนังสือ แต่พวกเขากำลังเรียนรู้ที่จะเปิดหนังสือต่างหาก
และสิ่งเหล่านี้ก็คือสัญญาณของการเริ่มต้นเป็นนักอ่านแต่วัยเยาว์
หนังสือเล่มแรกของลูกจึงมีความหมาย และมีความสำคัญต่อหัวใจดวงเล็กๆ
เพราะเด็กๆ นั้น อ่านหนังสือเองไม่ได้ จึงต้องอาศัยพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เป็นคนอ่านให้ฟัง
ในระหว่างที่มีพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง จะเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ได้แสดงความรักต่อลูกน้อย
และเป็นการสานสายสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้อ่าน (ผู้ใหญ่) ผู้ฟัง (เด็ก) อย่างแท้จริง
ระหว่างที่หูฟัง สายตาของลูกน้อยจะไล่มองดูภาพในหนังสือไปด้วย
ถ้อยคำและน้ำเสียงที่อ่อนโยนหรือสนุกสนานกำลังถูกถ่ายทอดออกมา
และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เด็กใช้ๆ สมองในการคิดและจินตนาการ
เพื่อพยายามทำความเข้าใจต่อสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วเชื่อมโยงกับภาพที่เห็นในหนังสือ
และขณะที่ลูกกำลังรับข้อมูล และเรียนรู้ท่ามกลางความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่นี้เอง
เซลล์ของเส้นใยในสมองของลูกน้อยจะยิ่งทำงาน
และแตกแขนงเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันเป็นโครงข่ายหนาแน่นและกว้างใหญ่
จึงส่งผลให้ลูกเป็นเด็กสมองดี ช่างคิด และช่างจดจำ
แหล่งข้อมูล มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน