ความลับของเพื่อนๆ ในนิทาน : หมอแพมชวนอ่าน
พอเราเข้าอยู่ในวงสนทนาเรื่องแม่และเด็ก
เราจะพบวงจร ว่าลูกๆของพวกเรา ทำอะไรคล้ายๆกันในวัยเดียวกัน
.
เรื่องนิทานก็เช่นกัน
คุณพ่อคุณแม่บางส่วน
เคยท้อใจที่ซื้อนิทานไปแล้วลูกไม่สนใจ ไม่ชอบอ่าน
แต่พอเวลาผ่านไป นิทานเล่มที่เคยเดินหนี อาจจะกลายเป็นนิทานเล่มโปรดในวันนี้
.
หมอสังเกต
มีนิทานประเภทหนึ่ง ที่ครองใจเด็กๆ อายุ 2-5 ปี
คือนิทานประเภท มีตัวละครซ้ำๆ
และออกมาหลายๆเล่ม
เช่น กุ๋งกิ๋ง หนูนิด ป๋องแป๋ง ข้าวสวยข้าวต้ม อองตอง ฯลฯหมอคิดว่า ทุกบ้าน ต้องมีนิทานแนวนี้อย่างน้อย 1 ชุด (ซื้อตามความชอบของพ่อแม่)
.
เพราะอะไร
.
อายุที่มักจะเริ่มชอบอ่านนิทาน
แบบมีตัวละครหลัก หลายๆตอนแบบนี้
มักจะอยู่ในช่วง 2-3 ปี
จริงๆก็มีเหตุผลทางพัฒนาการนะคะ
เพราะหลัง 2 ขวบปี
เด็กจะมีพัฒนาการทางความคิดและจินตนาการอย่างก้าวกระโดด
เข้าใจเรื่องสัญลักษณ์ เล่นเชิงสัญลักษณ์
เข้าใจบทบาทของคนรอบตัว
อยากมีเพื่อน…แต่ก็ยังมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง
มีเพื่อนในจินตนาการ (เพราะเพื่อนในจินตนาการเล่นตามความคิดของตัวเอง)
ยังเล่นกับเด็กคนอื่นไม่เป็น
นั่งข้างกันจริง วิ่งไล่กันจริง
(ลองไปสังเกตเด็กวัยนี้เล่นด้วยกันได้ วิ่งกันสนุกสนาน กรี๊ดกร๊าด แต่ต่างคนต่างวิ่ง
ไม่มีการวางแผนการเล่นด้วยกันเหมือนเด็กโต)
.
ดังนั้น เพื่อน ที่จะมาฝึกให้เด็กๆเข้าใจเด็กคนอื่น ก็คือ #เพื่อนที่เป็นตัวละครในนิทาน
.
เด็กวัย 2-5 ปี อยากรู้อยากเห็น
ว่าเด็กคนอื่นในวัยใกล้เคียงกับตัวเองเป็นอย่างไร
เพื่อนๆในนิทาน จะมาเสริมความต้องการตรงนี้
กุ๋งกิ๋ง ไม่ยอมสระผมหลายวัน กุ๋งกิ๋งเป็นยังไง
หนูนิด ติดเกมส์จนตาบวม ต้องไปหาหมอเลยนะ
ป๋องแป๋ง หลงทาง แล้วป๋องแป๋ง ทำยังไง
ฯลฯ
.
เมื่อเค้าได้อ่านเรื่องของเพื่อนในนิทาน
ซึ่งมีวัยใกล้เคียงกัน
มีประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกัน
ทำให้เค้าสามารถเห็นเหตุการณ์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
เด็กวัย 2-5 ปี เค้าจะพัฒนาความสามารถในการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่นได้แล้ว
ซึ่งสิ่งนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก
นี่คือทักษะ ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy)
การที่เด็กผูกพันธ์กับตัวละครใดละครหนึ่งอย่างมาก
ก็คล้ายกับเวลาที่เราดูซีรี่ แล้วเรารู้สึกผูกพันธ์กับตัวละครใดละครหนึ่งอย่างลึกซึ้ง
อยากให้มีความสุข ไม่อยากให้เจอเรื่องทุกข์
อยากให้ happy ending
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นทักษะพิเศษในมนุษย์
เพราะ ตัวละครที่เราผูกพันธ์ด้วย ไม่มีอยู่จริง
เรียกว่า จินตนาการซ้อนจินตนาการอีกที
.
นอกจากนี้ เด็กวัยนี้
เริ่มพัฒนาความคิดด้านศีลธรรม (moral beliefs)
ทำให้เค้าอ่านนิทานประเภทนี้ได้สนุกมากขึ้น
เพราะมีเหตุการณ์ที่
ค่านิยมของสังคมเห็นว่า ดี/ไม่ดี
สอดแทรกอยู่ในเนื้อหา
เค้าเรียนรู้ ค่านิยมเหล่านี้ผ่านตัวละคร
.
พี่กุ๋งกิ๋ง พี่หนูนิด พี่ป๋องแป๋ง พี่ข้าวสวยข้าวต้ม ตุ๊กติ๊กตุ๊บปอง อองตองฯลฯ
ล้วนมีส่วนทำให้น้องๆได้เติบโต
จนตอนนี้บางบ้านแทบไม่ได้หยิบนิทานเหล่านี้มาอ่านอีกแล้ว
เพราะพี่ๆยังอายุเท่าเดิมในนิทาน
แต่เด็กๆในชีวิตจริง
เติบใหญ่นำหน้าเด็กๆในนิทานไปแล้ว
รอให้มีเด็กคนใหม่
มาทำความรู้จักและอ่านเรื่องราวของเค้าเหล่านั้น
เอาเรื่องราวของเค้าไปเรียนรู้ในการใช้ชีวิต
.
ถึงจะไม่ได้กลับไปอ่าน
แต่ครั้งหนึ่ง เราก็เคยสนิทสนมกัน….ในความคิด
.
ขอบคุณนักสร้างสรรนิทาน ที่สร้างนิทานสนุกๆ ตัวละครน่ารัก
ให้คอยเป็นเติบโตเป็นเพื่อนเด็กน้อยทั้งหลายนะคะ
.
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน
จำนวนการเข้าชม :
811 ครั้ง
แชร์หน้านี้