:: Name it to tame it ::
วันนี้แม่หมีขอเสนอออออออ คุณสมบัติอันแสนวิเศษของภาษา นั่นก็ คืออออ คือออ คือ! #ยาคลี่คลายอารมณ์ นั่นเอง
เมื่อลูกหมีหกล้ม อารมณ์ร้าย หงุดหงิด เสียใจ แม่หมีไม่หวั่น เพราะแม่หมีมี “ภาษา” เป็นตัวช่วยยังไงล่ะ
ฝรั่งเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “name it to tame it” หมายถึง การใช้ภาษาระบุความรู้สึก ที่มา ที่ไป เพื่อคลี่คลายตัวเอง
…
สำหรับผู้ใหญ่อย่างเราๆ เราใช้กระบวนการนี้ตลอดเวลาโดยอัตโนมัติ เพราะเรามีคลังคำและทักษะภาษาในการระบุสิ่งที่เกิดขึ้น ความรู้สึก รู้จักลำดับเหตุการณ์และแก้ปัญหาได้เอง แต่เด็กๆ ของเราเขาเพิ่งเกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ได้ไม่กี่ปี เขาจึงยังไม่มีความชำนาญในเรื่องนี้
…
เราจึงต้องช่วยเขาสักหน่อยในช่วงแรกๆ โดยการระบุให้ฟังเป็นตัวอย่าง เช่น ถ้าลูกหมีหกล้ม ลูกหมีเจ็บมาก กำลังร้องไห้หนักมาก รู้สึกแย่จริงๆ แม่หมีก็จะเข้าไปกอดพร้อมใช้ภาษาระบุเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดนั้นว่า “เมื่อกี๊ลูกรีบวิ่ง ลูกวิ่งเร็วเลย เพราะลูกดีใจที่เห็นคุณยายมาถึงหน้าบ้าน ลูกเลยอยากออกไปรับคุณยาย ลูกเลยไม่ทันเห็นไม้กวาดที่วางขวางทางอยู่ ลูกสะดุดไม้กวาดจนหกล้ม ลูกตกใจ และลูกเจ็บมากจริงๆ”
…
ทำไมภาษาและเรื่องราวที่แม่หมีบอกถึงช่วยให้ลูกหมีสงบลงได้น่ะเหรอ ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่า ความรู้สึกเจ็บ ความตกใจ ความรู้สึกต่างๆ เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณสมองซีกขวา แต่พอลูกได้ฟังเรื่องราวเหตุและผลของการหกล้ม ได้ฟังคำพูดที่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น สมองบริเวณซีกซ้ายที่ทำหน้าที่ทำความเข้าใจจะเริ่มทำงานขึ้นมา “ความเข้าใจ” ช่วยให้ลูกออกจากอารมณ์กลับมาสู่โลกแห่งความจริงได้ว่าเขาไม่ได้เป็นอะไรมาก ลำดับขั้นตอนทำให้เขาเห็นภาพชัด ไม่สับสนวุ่นวายใจ
…
เมื่อเราระบุเป็นตัวอย่างให้เขาคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาที่ตรงจุดนี้เสียแต่เล็กๆ เขาจะเริ่มระบุได้เองเมื่อเริ่มมีประสบการณ์ทางภาษา เราอาจเพียงแค่ช่วยถามเป็นลำดับเท่านั้นเอง และไม่ต้องไปตีพื้นว่า “นี่แน่ะ ทำให้ลูกฉันเจ็บ” หรือโอ๋อย่างเดียว จนทำให้เขาห่างจากความจริงที่จะช่วยเขาได้ออกไปทุกที
…
ในการอธิบายความรู้สึกตัวเองได้ เด็กๆ ต้องเรียนรู้ที่จะ
- ระบุ – อารมณ์ ความรู้สึก ความคิด
- รู้คำศัพท์ที่หลากหลาย
- เลือกใช้คำศัพท์อย่างแม่นยำ
- “เรียบเรียง” เหตุการณ์ หรือเหตุและผลของความรู้สึกนึกคิด/อารมณ์ได้
…
ทักษะเหล่านี้จะทำให้เกิดความเข้าใจในตัวเอง บอกกล่าวความรู้สึกได้ เพื่อขอความช่วยเหลือ ได้ระบายให้หายอึดอัดคับข้องใจ และที่สุดยอดที่สุดคือคลี่คลายใจตัวเองได้ ถ้าพูดด้วยคำที่เราคุ้นเคยกันดีนี่คือ พื้นฐานสำคัญของการมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) นั่นเอง และนี่คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ลูกรับมือกับประสบการณ์ยากๆ ความรู้สึกแย่ๆ และอีกมากมายที่ลูกจะได้พบเจอต่อไปในชีวิต ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นอีกโขเลยล่ะค่ะ
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี)