“ลูกชอบให้อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำๆ”
“อ่านแต่เล่มซ้ำๆแล้วจะได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆได้อย่างไร”
“เราควรเปลี่ยนเรื่องมั้ยคะ หรือตามใจเค้า คืออ่านเรื่องเดิมซ้ำๆอย่างที่ลูกต้องการ”
……………………………
เป็นคำถามที่ถูกถามบ่อยมาก
เวลาที่หมอไปบรรยายที่ไหนก็ตาม
ตอนลูกสาวหมออายุราวๆ 1-2 ขวบ
หมอเคยอ่านนิทานเรื่องเดียวกัน ซ้ำรอบมากที่สุด 6 รอบ ในคืนเดียว (มีใครให้มากกว่านี้มั้ย..แชร์ให้กำลังใจคนอื่นได้นะคะ )
ใช่..หนังสือเล่มที่ลูกรัก..เราเป็นคนเลือกมาให้เอง
เป็นหนังสือที่สนุก ลูกชอบ เราก็ชอบ
เราจำมันได้ทุกหน้า จำได้ทุกประโยค
ไฟดับ เราก็อ่านต่อเนื่องได้ โดยไม่สะดุด
แต่….ขออ่านเล่มอื่นบ้างได้มั้ย…please!
………………………………….
แต่ช้าก่อน…คุณแม่นักอ่านทั้งหลาย
ที่ลูกๆชอบอ่านนิทานเล่มเดิมซ้ำๆ
มันเป็นส่วนสำคัญของพัฒนาการสมองของเค้านะคะ
1.การอ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำๆ
ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
หากเราคิดด้วยจิตใจของผู้ใหญ่ เราก็จะมองว่า
ไม่มีสิ่งใหม่ๆ กลัวว่าลูกจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ
แต่อย่าลืมว่า ลูกของเราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้แค่ 1-3 ปี
เท่านั้น และสมองของเค้า
ยังมี #ประสบการณ์เดิม ไม่มากพอ
ที่จะเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดได้ในการอ่านครั้งเดียว
ได้ยินศัพท์ แต่อาจจะยังเอาไป link กับภาพไม่ได้
#สมองของเด็กเรียนรู้จากการสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลใหม่เข้ากับข้อมูลเดิม
ลูกของเราที่อ่านหนังสือนิทานรอบแรกกับลูกตอนอ่านนิทานรอบที่ 10 #สมองของเค้าไม่เหมือนเดิม
มันมีข้อมูลก่อนหน้านี้ 9 ครั้ง
เกิดการเชื่อมโยงของเส้นประสาทไปแล้ว
การที่เด็ก focus และต้องการอ่านแต่เรื่องเดิม
เป็นการตอบสนองของสมองของเค้าเลยนะคะ
ในรูปมีสิ่งที่เค้าสนใจ 10 จุด
การได้อ่านหลายๆรอบ ก็เหมือนได้ไขปริศนาไปทีละจุด
สำหรับเด็ก มันตื่นเต้น ในทุกๆรอบ
ที่สำคัญ สิ่งที่รู้แล้ว เค้าจะคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในลำดับถัดไป
เหมือนเป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่ผ่านไปแต่ละหน้าๆ
เกิดความภูมิใจในตัวเองอีกต่างหาก
“เฮ้ย…ฉันรู้หมดเลยนะเจ้าสมองเพื่อนรัก”
2.การมองเห็นซ้ำๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษา(สัญลักษณ์)
นิทาน มีภาพ มีเสียงของแม่ และมีประโยคที่เขียนด้วยภาษาให้แม่อ่าน
ในเด็กเล็ก เค้ายังไม่เข้าใจ หน่วยของเสียง ตัวอักษร
แต่การได้เห็นซ้ำๆๆๆๆๆๆ….ท้ายที่สุดสิ่งที่เห็น จะซึมซับ
มันไม่ใช่เรื่อง surprise อะไร
ที่เด็กที่อ่านนิทานกับแม่ตั้งแต่เล็กๆ
จะอ่านหนังสือเองได้ตอนอายุ 4-5 ขวบ
โดยไม่ต้องให้ใครมาสอน
การมองเห็น และได้ยินซ้ำๆ ทำให้สมองเรียนรู้
เหมือนเราฮัมเพลงฮิตได้ แม้เราไม่ได้ตั้งใจจะหัดร้อง
เราไม่ชอบเพลงนั้นด้วยซ้ำ
(จะเลิกคุยทั้งอำเภอ เพื่อเธอ…หยุดร้องเดี๋ยวนี้นะ เฮ้ย!)
3.การอ่านซ้ำๆ ช่วยให้เข้าใจไวยกรณ์ของภาษา
นิทาน นอกจากให้คำศัพท์ ยังทำให้เด็กเรียนรู้ว่า
ศัพท์ที่เค้าได้ยิน
ทำหน้าที่อะไรในประโยค…การได้ยินประโยคเดิม ซ้ำๆยิ่งทำให้การเข้าใจนั้น
ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
4.อ่านซ้ำๆทำให้จำเรื่องราวได้นานกว่า
การลืมเป็นเรื่องธรรมชาติ
แต่การจำได้เป็นเรื่องต้องฝึกฝนนะคะ
นิทานหรือหนังสือ แม้แต่หนังที่เราชอบ
ต่อให้เราชอบมันมากแค่ไหน เมื่อเวลาผ่านไป เราก็ไม่สามารถจำรายละเอียดทุกอย่างได้
แต่เราจะจำได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ การได้เห็นซ้ำๆ
ถ้าเราจำนิทานเรื่องอะไรได้ดี นั่นแปลว่า ตอนเด็กเราก็คงให้แม่อ่านซ้ำๆเหมือนกันนั่นแหละค่ะ
………………
มีการวิจัยอย่างจริงจังในเรื่องนี้
(เด็กวัยนี้คงเป็นเหมือนกันทั่วโลก…สบายใจแล้วเนอะ)
การศึกษาทำให้เด็กอายุ 3 ขวบ 16 คนในประเทศอังกฤษ
แบ่งเด็กเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่อ่านนิทานเรื่องเดียวซ้ำๆ กับกลุ่มที่อ่านเรื่องต่างกัน
นักวิจัยจะไปเยี่ยมเด็กๆสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
กลุ่มอ่านซ้ำ นักวิจัยจะอ่านนิทานเรื่องเดียวซ้ำ 3 รอบ
กลุ่มอ่านต่าง นักวิจัยอ่านหนังสือ 3 เล่ม เรื่องละรอบ
(มีหนังสือนิทาน 9 เรื่องที่จะอ่านให้เด็กๆฟัง
ตลอดการทดลอง หนังสือแต่ละเรื่องจะได้รับการอ่านในจำนวนรอบที่เท่ากัน)
มีการควบคุมตัวแปรอื่นๆของทั้งสองกลุ่มให้เท่ากัน
ผลคือ เด็กในกลุ่มที่อ่านซ้ำๆ มีความจำได้นานกว่า
เข้าใจคำศัพท์ได้ดีกว่า เอาคำศัพท์ที่ได้เรียนรู้จากนิทานไปใช้ได้ดีกว่า
(link paper นี้ค่ะ: https://www.frontiersin.org/…/10…/fpsyg.2011.00017/full)
….
ที่เขียนมาทั้งหมด เพราะหมออยากจะบอกทุกคนว่า
“เราเข้าใจนาย”
สบตา และพยักหน้าให้กำลังใจเบาๆ พร้อมลูบหลัง
คิดว่าคำถามที่ถามข้างบน…อ่านแล้วตอบตัวเองได้แล้วเนอะ
ทำต่อไปจ่ะทุกคน
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี) ภาพประกอบ จากนิทาน แม่ไก่แฮตตี้ พาลูกรักคืนรัง