การอ่านเพื่ออ่านออกเป็นของง่ายๆ ควรพูดว่าเป็นของหมู เด็กเล็กช่วง 3-7 ขวบส่งไป รร. เราจะเฆี่ยนตีกดดันให้อ่านให้ออกอย่างไรก็ได้ ของกล้วยๆ จะใช้วิธีประสมคำหรืออ่านเอาเรื่องให้อ่านได้เองได้ทั้งนั้น เพราะเด็กกลัวเราอยู่แล้ว
…
ความกลัวที่จะถูกทำโทษทำให้อ่านได้จนได้ ความกลัวที่พ่อแม่จะไม่รักไม่ปลื้มทำให้อ่านได้จนได้ แต่ถ้าจะอ่านเพื่อเก็บความได้ จับประเด็นได้ และจับได้มากพอหรือแม่นยำพอเพื่อให้คิดต่อยอดได้ ต้องการความสามารถระดับสูงของสมองมากกว่านั้น ต้องการสมองที่พร้อม และจิตใจที่พร้อม
…
ช่วง 3-7 ขวบจึงเป็นช่วงเตรียมความพร้อม เตรียมอะไรพร้อม คำตอบคือเตรียมสมองและจิตใจให้พร้อม พร้อมสำหรับอะไร พร้อมสำหรับการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ #การจัดหมวดหมู่ของเนื้อความที่อ่าน และ #การให้เหตุผลแก่สิ่งที่อ่าน ตามลำดับชั้นอายุ
…
#การจัดหมวดหมู่ของเนื้อความที่อ่าน จำเป็นต้องรอพัฒนาการด้าน Cognition ซึ่ง Jean Piaget 1896-1980 บรรยายความไว้ละเอียดแล้ว (แต่เดาเอาว่าผู้กำหนดนโยบายไม่อ่าน หรืออ่านแล้วจับประเด็นไม่ได้) พูดอย่างเร็วคือเราต้องรอให้เด็กสามารถจัดลำดับความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งก่อน ได้แก่ juxtaposition, assimilate & accommodate, conservation, centration & decentration, placement & displacement, ordering, grouping, classification และ seriation
…
ในขณะเดียวกันเราต้องรอ #ระบบเหตุผล ของเด็กเล็กให้เข้าที่เข้าทาง ได้แก่ animism (อะไรที่เคลื่อนไหวได้มีชีวิต), magical thinking (การคิดเชิงเวทย์มนต์), egocentricism (ความคิดที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง), phenomenalistic causalty (การคิดที่ว่าอะไรที่เกิดพร้อมกันเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน), space&time (ความคิดเรื่องสถานที่และเวลา) และ concrete operation (การคิดเชิงรูปธรรม) กระบวนการการคิดทั้งหมดนี้ไม่สามารถเร่งได้ แต่ว่าในขณะเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องส่งเสริมด้วยวิธีพิเศษ มหัศจรรย์ เสียเงิน แต่ทำได้ด้วยการละเล่นและทำงานบ้าน ขอแค่ไม่เฆี่ยนตี ไม่ตัดเกรดปัดตก ไม่ตรวจไอคิวแล้วปัดเป็นเด็กสมาธิสั้น ฯลฯ ขอความเมตตาและกรุณา แค่รอ ผู้ใหญ่กรุณารอ เด็กๆ ทุกคนจะพัฒนาตนเองไปตามเส้นทางนี้อยู่แล้ว แล้วทุกคนจะอ่านได้เมื่อถึงเวลา และมีสมองกับจิตใจที่พร้อมจะอ่านเพื่อเก็บประเด็นได้ด้วย คิดวิเคราะห์ด้วย (คำศัพท์ต่างๆ ที่เอ่ยมาจะอธิบายวันละคำในเพจ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 6 มี.ค.เป็นต้นไป)
…
เด็กไทยเขียนไม่ได้ ไม่เกี่ยวกับภาษาไทยสะกดไม่ดี ไม่เกี่ยวกับภาษาวิบัติ เพราะภาษาควรจะวิบัติกันบ้างเป็นธรรมดา จะแช่แข็งภาษาทำไม ในเมื่อภาษาสะท้อนจิตใจคนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อีกทั้งไม่เกี่ยวกับหลักภาษาไทยไม่แม่น แต่เพราะไม่เคยฝึก “เขียนความคิดของตนเองออกมา” มากกว่าอย่างอื่น
…
ภาษาไทยและหลักภาษาไทยเป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่สำคัญที่สุด ภาษาท้องถิ่นทุกท้องถิ่นสำคัญเท่ากันหมด ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่ตัวสะกด วรรณยุกต์หรือไวยากรณ์เท่านั้น แต่อยู่ที่เด็กไม่มีความสามารถจะเขียนเนื้อหาที่อยู่ในสมองของตัวเองออกมาเป็นตัวอักษรที่คนอื่นอ่านรู้เรื่อง จะใช้ภาษาแช็ทหรือภาษาโซเชียลก็ไม่ผิดกติกาอะไร แต่คนอ่านควรรู้เรื่อง
…
และถ้าคนอ่านอ่านไม่รู้เรื่อง แปลว่าเราเขียนไม่ดี ให้กลับไปเขียนใหม่
…
เวลาเราใช้ปากกาคอแร้งจุ่มอินเดียนอิงค์เขียนหนังสือในสมัยโบราณ เวลานั้นการคัดลายมือสวยเป็นเรื่องสำคัญ เพราะลายมือสวย ความบรรจง สะท้อนถึงความประณีตของระบบการคิดด้วย ผู้เขียนสามารถสื่อความในใจและสมองออกไปกับตัวหนังสือที่สวยงาม แต่ศตวรรษที่ 21 เราหาปากกาคอแร้งไม่ค่อยจะพบแล้ว เราใช้คีย์บอร์ด เราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยใช้คีย์บอร์ดเขียนความในใจและสมองออกมาได้อย่างดีที่สุด จึงเป็นโจทย์ใหญ่
…
การเขียนความเรียง (Essay) และการตอบคำถามข้อสอบอัตนัยเป็นเรื่องเลี่ยงไม่ได้ หากไม่แก้ไขเรื่องนี้ยังจะงมอยู่กับข้อสอบปรนัยตลอดไป ก็ไม่ไปไหน
แหล่งข้อมูล นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จาก FB อ่าน อาน อ๊าน