ถ้าจะนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศในบ้านเรา
เช่น เป็นหนังสือเด็กหรือหนังสือนิทานนั้น ต้องมีความแนบเนียนและกลมกลืนกับการใช้ชีวิตของเด็กๆ
เพื่อให้เด็กเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะในชีวิตจริงในโรงเรียนก็จะมีเด็กกลุ่ม LGBTQ+ อยู่ในโรงเรียน
ที่เรียนร่วมกับคนทั่วไปอยู่แล้ว เช่น การเล่าเรื่องผ่านภาพของเด็กผู้ชาย 2 คนกำลังเล่นไม้กระดกที่นั่งกันคนละด้าน
โดยด้านหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายที่ใส่ชุดนักเรียนผู้ชาย
และเด็กผู้ชายที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งใส่ชุดนักเรียนผู้ชายเช่นกัน แต่มีพวงมาลัยดอกไม้คล้องอยู่
สิ่งเหล่านี้เป็นการบอกเล่าให้เด็กรู้ว่าในสังคม ยังมีเด็กซึ่งมีความหลากหลายทางเพศอยู่
ซึ่งพวกเขาสามารถเล่นหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยที่เด็กทั้ง 2 คนไม่รู้สึกแตกต่างแต่อย่างใด
ดังนั้นในเนื้อหาของหนังสือสำหรับเด็กกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ
ไม่ควรจะเน้นการระบุเกี่ยวกับความแตกต่าง ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้
เพราะนั่นอาจเป็นการชี้หรือระบุให้คนโฟกัสไปที่ตัวตนของเราหรือเด็กคนนั้นๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศแทน
ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศรู้สึกไม่ดี
ยกตัวอย่างหากเราต้องการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เด็กปกติอยู่ร่วมกับเด็กพิการนั้น
ควรเล่าผ่านภาพตัวการ์ตูนในหนังสือ
โดยในทุกๆ หน้าของเนื้อหา ควรมีภาพของเด็กพิการหน้าตาน่ารักนั่งอยู่บนรถเข็น
แต่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ได้
ซึ่งนั่นจะสอนให้เด็กรู้ว่า ภายในห้องเรียนของเด็กปกติก็มีเพื่อนเป็นผู้พิการ
ที่สามารถเรียนร่วมกันและทำกิจกรรมกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยที่ไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูดใดๆ
เพราะทุกอย่างมันกลมกลืนอยู่ในชีวิตของเด็กๆ ที่สำคัญเมื่อทุกอย่างอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเรื่องปกติ
เด็กพิการก็จะไม่ถูกเพื่อนบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง และไม่ถูกมองว่าเป็นเด็กที่น่าสงสาร เป็นต้นค่ะ
ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาหนังสือเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ จำเป็นใช้มีศิลปะและชั้นเชิง
ที่ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจาก จากการที่ภาพของพวกเขาถูกสะท้อนออกมา
โดยการดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน กับเพื่อนๆ คนอื่นได้อย่างกลมกลืนลื่นไหล
โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนไปย้ำ
ในบ้านเรายังมีหนังสือในลักษณะดังกล่าวค่อนข้างน้อยอยู่มากๆ ค่ะ
ส่วนหนึ่งเพราะคนที่ทำไม่กล้านำเสนอ เพราะหากนำเสนอออกไปนั้น
พ่อแม่ผู้ปกครองจะมองว่าเป็นแบบอย่างที่ทำให้เด็กๆ เลียนแบบหรือไม่อย่างไร
ซึ่งตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับที่วิธีการนำเสนอเนื้อหาข้างต้น ที่บอกว่าเราไม่ควรระบุว่าเด็กคนนี้มีความแตกต่าง
เพื่อให้เด็กๆ ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ควรนำเสนอไปในเชิงที่ว่าพวกเขานั้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
แม้จะมีความแตกต่างกัน เช่น หากหนังสือต้องการให้ความรู้กับเด็กๆ ว่าคุณครูผู้หญิงที่สอนนั้น
เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+
ในรูปภาพก็ควรวาดให้เป็นครูผู้หญิงตัดผมสั้น กำลังสอนอยู่หน้าห้องเรียน
และมีเด็กๆ นั่งเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงเท่านี้เด็กๆ ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าครูเป็นใคร
โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกเด็กๆ ว่าคุณครูผู้หญิงคนนี้ไม่เหมือนคนอื่น หรือมีบุคลิกต่างจากครูผู้หญิงคนอื่น เป็นต้น
ดังนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับเด็กกลุ่ม LGBTQ+ ในบ้านเรานั้นควรมี และมีได้ แต่ต้องใช้ศิลปะในการนำเสนออย่างเหมาะสมและมีชั้นเชิง
สำหรับการที่สังคมจะยอมรับได้ไหมหากในอนาคตบ้านเราผลิตหนังสือดังกล่าวออกมามากขึ้น
ตรงนี้ต้องเรียนว่า หากเนื้อหาที่นำเสนอไปสู่เด็กๆ นั้น เป็นการจิ้มลงไปเลยถึงความแตกต่างของเด็กกลุ่ม LGBTQ+
และเด็กๆ ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ควรยอมรับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ ซึ่งเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวอาจถูกโจมตี
เพราะนั่นเสมือนเป็นการที่เราชี้นำให้ผู้อื่นตอกย้ำตัวตนของเด็กหลากหลายทางเพศ
โดยที่ตัวเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศเองก็จะรู้สึกไม่แฮปปี้ เพราะทุกคนจะต้องหันมาพุ่งเป้าหรือจับจ้องเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ
ซึ่งมันจะนำมาซึ่งความสงสาร หรืออาจถูกกลั่นแกล้งอย่างที่เรียนไปตอนต้น
ดังนั้นใจความหลักของหนังสือเด็กกลุ่ม LGBTQ+ คือการทำให้เด็กอยู่ด้วยโดยไม่รู้สึกแตกต่าง
ผ่านภาพการ์ตูนที่สอดแทรกเด็กกลุ่มนี้ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ คนอื่นอย่างเป็นปกติ
แหล่งข้อมูล www.thaipost.net 19 มิถุนายน 2564