ก่อนอื่น อยากให้ลองจำคำเหล่านี้นะคะ
ใช้เวลาคำละ 2 วินาที ( มี 15 คำ จับเวลา 30 วินาที)
.
“ฝนตก – กบ – ท้อง – ข้าว – ไฟ – ฟืน – พระจันทร์ – แกง –
แหวน – ช้าง – ม้า – เก้าอี้ – เตียงนอน – ละคร – เลี้ยง “
.
.
จำได้กันกี่คำคะ
.
แต่ถ้าบอกว่า มาจากเพลง 2 เพลง
“ฝนเอยทำไมจึงตก จำเป็นต้องตก เพราะกบมันร้อง
*กบ*เอยทำไมจึงร้อง จำเป็นต้องร้องเพราะท้องมันปวด
*ท้อง*เอยทำไมจึงปวด จำเป็นต้องปวด เพราะกินข้าวดิบ
*ข้าว*เอย ทำไมจึงดิบ จำเป็นต้องดิบ เพราะไฟมันดับ
*ไฟ*เอยทำไมจึงดับ จำเป็นต้องดับเพราะฟืนมันเปียก
*ฟืน*เอยทำไมจึงเปียก จำเป็นต้องเปียก เพราะฝนมันตก”
กับ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวของแกง….”
.
ทีนี้รู้เลยใช่มั้ยคะ
สมองของคนเรา จดจำภาพ
ได้มากกว่าตัวอักษร ที่เป็นคำๆ
เพราะอย่างที่เคยบอกไปนะคะ
ว่าสมองคิดเป็นรูปภาพ…เวลาเราอ่านคำ
เราจะไปแปลงเป็นภาพให้เกิดในสมองอีกทีหนึ่ง
ดังนั้น สมองจำภาพได้มาก และรวดเร็วกว่าตัวอักษรหลายเท่า
ซึ่งถ้าภาพเหล่านั้น มีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกัน
ก็จะสามารถจดจำได้เร็วมากขึ้นไปอีก
.
ซึ่ง แชมป์ความจำระดับโลก
ใช้เทคนิคของ linking memory นี่เอง
ที่ทำให้เค้าสามารถจำได้รวดเร็วและแม่นยำ
เค้าจะเอาคำที่เจอ คิดเป็นภาพที่เชื่อมโยงกันค่ะ
.
สำหรับเด็กเล็ก…ก็มีการนำเทคนิคนี้มาใช้อย่างแพร่หลายนะคะ
โดยการใช้ flash cards
ซึ่งหากพ่อแม่ทำให้ลูกสนุกได้…ก็ถือว่าเยี่ยมมากๆเลยค่ะ
ในการฝึก
.
แต่มีสิ่งที่ง่าย…ใกล้ตัว
และเป็นสิ่งที่เราทำได้ทุกวัน
ก็คือการอ่านนิทานค่ะ
การอ่านนิทานนี่แหละค่ะ
คือการฝึก linking memory ที่เยี่ยมยอดที่สุดแล้วในเด็ก
เพราะนิทาน ทำให้ได้เจอกับคำศํพท์ใหม่
คำศัพท์นั้น เด็กเรียนรู้ผ่านรูปภาพ และเอามาเชื่อมโยงความหมายกับคำที่แม่อ่าน
เด็กดูภาพแมว แม่ออกเสียงคำว่า “แมว”
และที่สำคัญ นิทานเอาศัพท์ใหม่ๆนั้นมาเชื่อมโยงเป็นเรื่องราว
.
ไม่ต้องประหลาดใจที่จะพบว่า
เด็กที่อ่านนิทานมากๆ
มีความจำที่ยอดเยี่ยม
เพราะเค้าซึบซับเทคนิคนี้ตั้งแต่เล็ก
โดยที่ไม่ต้องฝืน…และเป็นการเรียนรู้ที่มีความสุขมากๆ
นิทานพัฒนา EF ในทุกๆด้าน
และยังทำให้เด็กมีความจำดีขึ้น
.
นิทานทุกเรื่องฝึกเรื่อง linking memory หมดนะคะ
แต่นิทานที่หมอจะยกตัวอย่างในวันนี้
เป็นสองเรื่องที่โดดเด่นมากๆ
คือเรื่อง
หัวผักกาดยักษ์ (ตัวแทนนิทานนานาชาติ ส่งเข้าประกวด)
ยายกะตา (ตัวแทนนิทานไทย)
.
หัวผักกาดยักษ์ เป็นเรื่องราวที่เรียบง่าย
แต่ก็ตื่นเต้น ตาปลูกผักกาด กลายเป็นหัวผักกาดยักษ์
ต้องไปตามคนอื่นมาช่วยกันดึงหัวผักกาด
การตามกันไปเรื่อยๆ
ตัวละครที่ตาม จะมีความสัมพันธ์กัน
ตา ตาม ยาย – ยาย ตาม หลาน
หลาน ตาม หมา – หมา ตาม แมว – แมว ตาม หนู
อ่านให้ฟังเที่ยวเดียว เที่ยวต่อ ไป ลองเว้นจังหวะให้ลูก”ตาม”ดูค่ะ
จะพบว่า เค้าจำได้หมด ว่าใครตามใคร
.
เรื่องยายกะตา
สนุกมาก…เป็นนิทานไทยที่มีชั้นเชิง มีอารมณ์ขัน
ยายกะตา ปลูกถั่วปลูกงา ให้หลานเฝ้า
หลานเอาแต่เล่น จนกามากินถั่วงา
ยายด่า ตาตี
หลานไปตามนายพรานมายิงกา
นายพรานบอกไม่ใช่ธุระอะไรของข้า
หลานไปบอกหนูให้กับสายธนูนายพราน
หนูบอกไม่ใช่ธุระอะไรของข้า…
ทายกันถูกมั้ยคะ ว่าหลานจะไปขอร้องใครให้มาเล่นงานหนู
.
ก็ขอร้องกันเป็นทอดๆ แต่ไม่มีใครทำตามคำขอร้องให้หลานสักราย
หลานไปขอร้องช้าง ช้างก็ไม่ยอม
ที่สุดแล้ว…มีสัตว์ที่ยอมทำตามคำขอร้องของหลานด้วยนะคะ
คือ แมลงหวี่…ไปตอมตาช้าง
ช้างบอกว่ายอมแล้ว..จะไปพังตลิ่ง
ตลิ่งบอกยอมแล้ว จะไปทับน้ำ..น้ำบอกว่ายอมแล้วจะไปดับไฟ
ไฟบอกยอมแล้ว จะไปไหม้ไม้…ไม้บอกยอมแล้วจะไปตีหัวหมา
หมาบอกยอมแล้วจะไปกัดแมว….แมวบอกยอมแล้วจะไปกัดหนู
หนูบอกยอมแล้วจะไปกับสายธนูนายพราน
นายพรานบอกยอมแล้วจะไปยิงอีกา
.
ตอนที่เขียนเล่า หมอไม่ได้เปิดอ่านเลยค่ะ
มันจำได้ตั้งแต่เล่าให้ลูกฟังครั้งแรกแล้ว
เพราะสมองเรา คิดเป็นภาพ
และภาพมาเชื่อมโยงกันโดยเรื่องราว
นี่แหละคือ linking memory
.
ชัดมั้ยคะ….ว่าทำไมการอ่านนิทาน
ถึงช่วยให้เด็ก”ฉลาด”
เหมือนที่ Einstein กล่าวไว้ไม่มีผิด
อยากให้ลูกฉลาด ก็อ่านนิทานให้ลูกฟัง
อยากให้ลูกฉลาดขึ้น ก็อ่านนิทานให้ลูกฟังมากขึ้น
.
ปล. นิทานที่เข้าประกวด 2 เรื่อง หมอให้ ยายกะตาชนะเลิศ ค่ะ
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี)