#พลังแห่งเรื่องเล่าช่วยให้อ่านแตก
ตอนที่แล้วเราได้ทำให้หนังสือกลายเป็นขนมหวานของเด็กๆ แล้ว จากนั้นเราก็แค่ “อ่าน อาน อ๊าน” ต่อไปเรื่อยๆ เด็กก็จะได้พัฒนาทักษะเพื่อการ “อ่านแตก” ไปโดยปริยาย (ดูรายละเอียดทักษะที่ต้องมีเพื่อการ “อ่านแตก” ได้จาก “อ่านออกเขียนได้…แต่ไม่เข้าใจ (1)” https://goo.gl/tTpX1Z และ “อ่านออกเขียนได้…แต่ไม่เข้าใจ (2)” https://goo.gl/5pGToI )
…
ว่าแต่ “เรื่องเล่า” ทำให้ “อ่านแตก” ได้อย่างไร แม่หมีสรุปมา 2 ข้อดังนี้ค่ะ
#…1.เรื่องเล่าเป็นกุญแจไขประตูสมองให้เปิดกว้าง พร้อมเรียนรู้ ด้วยการ “สร้างความหมายที่ใกล้เคียงกับชีวิตของเด็ก” สิ่งใดก็ตามที่เด็กเผชิญหน้าอยู่มีความหมายต่อเขามากเท่าใด ประตูสมองเขาก็จะยิ่งเปิดเท่านั้น เรื่องเล่าทำได้ด้วยการเล่าเรื่องที่เหมาะกับเด็กแต่ละวัย มีบริบทใกล้ตัว มีเนื้อหาที่ท้าทายที่นำไปสู่การคลี่คลายใจ ฯลฯ
…
#…2.เรื่องเล่าเป็นตัวอย่าง “การใช้ภาษา” อย่างดีเยี่ยม เมื่อเปิดประตูสมองแล้ว ที่นี้เด็กก็พร้อม “ซึมซับ” วิธีการใช้ภาษาจากเรื่องเล่า ยิ่งถ้าเรื่องเล่านั้นเล่าเรื่องได้โดนใจ เด็กเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับเรื่องได้ การใช้ภาษา/คำศัพท์จากเรื่องนั้นๆ ก็จะประทับลงไปในใจเด็กอย่างลึกซึ้ง มิรู้ลืม…
เมื่อเด็กได้รับฟังตัวอย่างการใช้ภาษามากขึ้นๆ หลากหลายขึ้นๆ (หลากหลายประเภท เช่น นิทาน แฟนตาซี กลอน สารคดี ฯลฯ) เด็กก็จะคุ้นเคยและสะสมทักษะการใช้ภาษามากมายมหาศาลไว้ในตัว ขณะเดียวกันก็จะเริ่มสังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรและเสียง และเมื่อมาถึงจุดนี้ การสอนสะกดเพียงนิดเดียวก็จะทำให้เขาเข้าใจเรื่องการผสมเสียงคำแล้วค่ะ
…
จากนั้นเขาก็จะนำทักษะการผสมเสียงคำมารวมเข้ากับทักษะการใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างอัตโนมัติ แรกๆ อาจเริ่มจากการ(พูด)เล่าด้วยภาษาที่ชัดเจน สละสลวย จากนั้นเริ่มเล่าด้วยการวาดภาพเยอะหน่อย เขียน (ผิดๆ ถูก) ประกอบน้อยหน่อย แล้วสัดส่วนการเขียนจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นไปเองจนไม่ต้องอาศัยภาพในการสื่อสารอีกต่อไป
…
ไม่น่าแปลกใจเลยที่เร็วๆ นี้ระหว่างแม่หมีชี้ชวนให้หมีน้อยดูพระอาทิตย์ตกด้วยกัน ลูกหมีรับรู้ได้ถึงความงามของบรรยากาศ และถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาด้วยประโยคว่า “พระอาทิตย์ทอแสงสุดท้าย” ทั้งๆ ที่เพิ่งพูดได้ไม่นาน ก็ประโยคนี้มันมาจากนิทานน่ะสิ และในหัวของลูกหมีก็คงอัดแน่นไปด้วยคำศัพท์และการใช้ประโยคอื่นๆ อีกมากมาย รอการนำออกมาใช้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะเจาะ
…
เห็น “พลังของเรื่องเล่า” แบบนี้แล้ว รอช้าอยู่ไย ไปหยิบหนังสือมาอ่านให้เด็กๆ ฟังกันค่ะ
แหล่งข้อมูล FB อ่าน อาน อ๊าน