#พลังแห่งเรื่องเล่าช่วยให้เด็ก “อ่านโลก” และ “อ่านตัวเอง”
เรื่องเล่านั้นเป็นการใช้ภาษาเพื่อ “การให้ความหมายอย่างลึกซึ้ง” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ว่าลึกซึ้งคือให้ความหมายสิ่งที่เป็นนามธรรมที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น หรือให้มุมมองกว้างขวาง หลากหลาย เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง และบางทีก็ซูมเข้าให้เห็นอะไรจิ๋วๆ ได้เช่นกัน “การให้ความหมายอย่างลึกซึ้ง” นำไปสู่ 2 ปรากฏการณ์ คือ
…
#…1.สร้างทักษะในการ “รับ” สารอย่างลึกซึ้ง
เรื่องเล่าช่วยสร้าง “สร้างสะพานล่องหน” ให้เด็กเชื่อมโยงประสบการณ์ของตัวเองกับเรื่อง เอาตัวเข้าไปแทนตัวละคร เข้าไปอยู่ในบรรยากาศได้ ส่งผลให้เกิด “การรับรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” เมื่อเด็กได้ฟังบ่อยๆ เข้า เขาจะสร้างสะพานล่องหนนี้ได้เองและใช้มันเชื่อมโยงกับโลก รับสารอย่างลึกซึ้งจากสิ่งรอบตัวอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องเล่าด้วย ไม่ว่าจะเป็น “การอ่านคน” “การอ่านสถานการณ์” “การเอาใจเขามาใส่ใจเรา” เป็นคนละเอียดและช่างสังเกตขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
…
#…2.สร้างทักษะในการ “สร้าง” สารอย่างลึกซึ้ง
เด็กๆ เกิด “ความเข้าใจในตนเอง” ใช้ภาษาระบุความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองได้ชัดเจน และยังสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยภาษาที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่าเพื่อประมูลออกมาเป็นบทเรียนใหม่ และสื่อมันออกมาได้อย่างชัดเจน
…
และนี่คือ “เจตจำนง” ในการสื่อสารที่เด็กของเราขาดหายไปค่ะ คือระบุไม่ได้ว่าตนเองมีความรู้สึกนึกคิดกับเรื่องนี้อย่างไร ไม่รู้จะสื่ออะไรไปเพื่ออะไร สื่อกับใครต้องใช้ภาษาแบบไหน บางทีก็เพราะมัวแต่ติดอยู่ที่รูปแบบ เช่น การพูดจาไพเราะ การเขียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งแม่หมีเห็นว่ามีประโยชน์นะคะ เพียงแต่เราให้ความสำคัญกับรูปแบบจนหลงลืมหน้าที่ที่แท้จริงของภาษา ซึ่งก็คือการ “สื่อ” เอา “สาร” ออกมาให้แจ่มชัด นั่นเอง
ทั้งสองทักษะนี้ยังเต็มไปด้วยทักษะย่อยๆ อีกมากมาย (ดูรายละเอียดได้จาก “อ่านออกเขียนได้…แต่ไม่เข้าใจ (1)” https://goo.gl/tTpX1Z และ “อ่านออกเขียนได้…แต่ไม่เข้าใจ (2)” https://goo.gl/5pGToI) ซึ่งเป็นทักษะที่สอนกันไม่ได้ค่ะ แต่ต้องเรียนรู้แบบซึมซับไปเอง…
แหล่งข้อมูล FB อ่านอานอ๊าน