ลูกสาวอายุ 2 ขวบ 10 เดือน
ใครมีลูกรุ่นราวคราวเดียวกัน
จะพบว่าการพูดคุยกับเด็กวัยนี้…สนุกมากกกกกก
จากการอ่านนิทานตั้งแต่เล็กๆ
ทำให้คลังคำศัพท์ของเค้าเยอะมากๆเลยค่ะ
บางคำไม่น่าเชื่อว่าเป็นเด็กอายุไม่ถึง 3 ปีพูด
.
คือ การอ่านหนังสือภาพ
นอกจากลูกจะได้ศัพท์ใหม่ๆ
ยังเป็นการเรียนรู้บริบท ของการนำศัพท์ไปใช้ด้วยค่ะ
เช่น
วันหนึ่ง เธอเดินเหยียบกิ่งไม้แห้งหัก
“แม่ดู…หักไม่มีชิ้นดีเลย”
ศัพท์เว่อวังมากค่ะ 555
(เอามาจากเรื่องสัตว์ไม่ควรใส่เสื้อผ้าเด็ดขาด)
อีกวันหนึ่งไปดูหมา ถูกขังในกรง
“หมามันดูอ้างว้างและโดดเดี่ยว”
เอิ่ม..
.
เมื่อก่อน ตอนที่ยังมีคลังศัพท์ไม่มาก
เด็กจะฟังทั้งประโยค แล้วเอาไปพูด
โดยใช้ความคิดเชื่อมโยง
เอาเหตุการณ์ที่คล้ายๆกับในนิทาน
แล้วนำรูปประโยคเกือบทั้งหมดไปพูด
ตอนนี้ advance กว่านั้น
เวลาอ่านหนังสือ เค้าจะต้องการรู้ศัพท์ ทุกคำที่เราอ่านให้ฟัง
ล่าสุด..กว่าจะอธิบายเข้าใจ เล่นเอาแม่เหนื่อย
อ่านเรื่องไดโนเสาร์เล่มโปรด
ในเรื่องบอกว่า ไดโนเสาร์ ตัวมหึมา
“แล้วไหน *มหึ*”
“ก็ไดโนเสาร์มันตัวใหญ่มากไงลูก ก็เลยมหึมา”
“แล้วไหนตัวไหนชื่อ*มหึ*
อธิบาย วนไปมา
จนท้ายที่สุดเข้าใจแล้ว
ลูกเอาคำที่เค้ารู้ แยกออกจากคำที่เค้ายังไม่รู้จัก
คำว่า มหึมา แต่ที่เค้าฟังได้ใจความ “มหึ-มา(แล้ว)”
555555
.
และช่วงนี้เวลาเห็นแผ่นป้ายโฆษณา
เค้าจะต้องถามว่า คำนี้เขียนว่าอะไร
.
ซึ่งก็ยืนยันทฤษฎี จริงๆนะคะ
ว่าการอ่านออก…เป็นไปตามธรรมชาติ
ถ้าเราอ่านหนังสือกับลูก..ท้ายที่สุด
เค้าจะ*กระตือรือร้น* ที่จะอยากอ่านด้วยตัวเอง
แม้ช่วงแรกจะเป็นการจำแบบทั้งคำ โดยไม่ได้สะกด
(whole word) แต่เมื่อพร้อมแล้วเรียนหลักการอ่าน
ก็จะทำได้อย่างรวดเร็ว
.
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเร่งให้เค้าอ่านแต่อย่างใด
.
อย่าลืมนะคะว่า สมองส่วนความจำ
อยู่ใกล้กับสมองส่วนรับความรู้สึก
หากทำให้การอ่านหนังสือ กลายเป็นเรื่อง น่าเบื่อ น่ากลัว
เต็มไปด้วยความคาดหวังซะแล้ว
การเรียนรู้ระยะยาวก็ไม่เกิดผลดี
.
อ่านไปเถิดค่ะ
อ่านให้สนุก
ไม่ต้องคิดอะไรมาก
เด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้มากมาย
แค่ให้เค้ารู้สึกว่าสนุกและมีความสุขที่ได้ทำก็พอ
.
เดี๋ยวประโยชน์ มหึ-ก็มาเอง
.
หมอแพม
แม่ธรรมด๊า ธรรมดา ที่คลั่งไคล้การอ่านนิทานเด็ก
เป็นชีวิตจิตใจ
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน