นอกจากประสบการณ์แล้ว ลูกยังมีสมาธิยาวขึ้น เมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ฟัง
โดยทั่วไปเด็กเล็กๆ จะมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น
กิจกรรมการฟังนิทานถือเป็นการฝึกฝนสมาธิสำหรับเด็กเป็นอย่างดี
การฟังพ่อแม่ หรือผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟัง 1 เรื่อง ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 นาที
แต่เด็กๆ มักจะขอฟังมากกว่า 1 เรื่อง อยู่แล้ว
ยิ่งลูกเรียกร้องขอฟังนิทานจากหนังสือมากเรื่องเท่าไหร่
ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น (แต่ไม่ควรมากเกินไป จนพ่อแม่เหนื่อยล้า)
ฉะนั้น ควรระลึกไว้เสมอว่า การอ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นการฝึกสมาธิให้ลูกไปด้วย
เป็นวิธีที่นุ่มนวลและได้ผลมากกว่าออกคำสั่งให้นั่งหลับตาอยู่นิ่งๆ
ซึ่งนั่นไม่ใช่ธรรมชาติของเด็กเล็กๆ เลย
การที่ลูกของเราสามารถนั่งหรือนอนฟังพ่อแม่อ่านหนังสือได้อย่างสงบนั้น
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการที่ลูกนั่งนิ่ง สายตาจ้องเป๋งอยู่กับโทรทัศน์
พ่อแม่หรือผู้ปกครองหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าลูกหลานมีสมาธิ
เพราะเห็นเจ้าตัวเล็กนั่งจ้องอยู่ที่หน้าจอ
ความเป็นจริงก็คือลูกกำลังถูกสะกดหรือดึงดูดด้วยแสง สี และเสียง
กับภาพที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
แตกต่างกับการฟังพ่อแม่อ่านหนังสือ เพราะภาพในหนังสือเป็นภาพนิ่ง
หนังสือบางเล่มใช้สีอ่อนเบา บางเล่มเป็นสีขาว-ดำ ด้วยซ้ำ
บางครอบครัวอ่านด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ง่ายๆ แต่มีชีวิตชีวา
ซึ่งลูกก็สามารถนั่งดู นั่งฟังได้คราวละนานๆ ไม่เพียงแต่เกิดสมาธิเท่านั้น
ขณะที่ลูกนั่งฟังพ่อแม่อ่านยังเกิดการสื่อสาร หรือเกิดปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา
ตั้งแต่การโอบกอด จับมือ ชี้ที่ตัวอักษร ชวนดูรูปภาพ ผลัดกันพลิกหน้ากระดาษ
ออกเสียงเลียนแบบตัวละคร เล่นทายเหตุการณ์ล่วงหน้ากัน ฯลฯ
ทั้งหมดนี้จะไม่เกิดหรือเกิดขึ้นน้อยมากในระหว่างดูโทรทัศน์
แหล่งข้อมูล มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน