ประสบการณ์บางอย่างที่ลูกได้รับจากหนังสือ เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
หากแต่เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป
ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ทางภาษา ประสบการณ์ทางผัสสะต่างๆ
ประสบการณ์ทางภาษาจากหนังสือสำหรับเด็ก ที่ผู้ใหญ่อาจจะมองข้าม หรือมองไม่เห็น
ได้แก่ คำศัพท์ต่างๆ ที่แสดงอาการ หรือคำศัพท์ที่ให้ความหมายเชิงนามธรรม
เช่นคำว่า เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี ความดี ความสุข เป็นต้น
ลูกจะได้เรียนรู้ความหมายของคำที่ผู้ใหญ่มักจะชอบพูดผ่านการกระทำของตัวละครในหนังสือ
แม้หนังสือบางเล่มจะไม่มีคำเหล่านี้ปรากฏอยู่เลย
แต่เมื่ออ่านหนังสือจบแล้ว พ่อแม่สามารถชวนลูกพูดคุย
ความเห็นเพื่อเชื่อมโยงให้ลูกได้เข้าใจความหมาย
คำศัพท์ประเภทนามธรรม จากประสบการณ์ที่มองไม่เห็น มาถึงประสบการณ์ที่เรามองเห็น
อย่างเช่น ประสบการณ์ที่ลูกได้รับจากการพยายามแก้ปัญหา ฟันฝ่าอุปสรรคของตัวละคร
พฤติกรรมบางอย่างของตัวละครที่ลูกชื่นชอบ รวมไปถึงรูปภาพที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
ประสบการณ์เช่นนี้ถือเป็นประสบการณ์ที่เรามองเห็นได้ ทั้งจากคำและรูปภาพ
ซึ่งลูกก็มองเห็นได้เช่นเดียวกับพ่อแม แต่เด็กๆ จะเก็บเกี่ยวได้มากกว่าผู้ใหญ่
เพราะทั้งหมดเป็นประสบการณ์ใหม่ และตรงกับพัฒนาการตามวัยของลูก
ประสบการณ์ที่ลูกได้รับจากหนังสือเป็นสิ่งที่คุ้มค่ามาก
เพราะบางครั้งแม้เรายังไม่มีโอกาสพาลูกออกนอกบ้าน
แต่ลูกก็สามารถเดินทางท่องโลกตามแบบเด็กๆ ได้
เมื่ออ่านหนังสือด้วยกันกับพ่อแม่
แหล่งข้อมูล มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน