Oxford Reading Tree เป็นหนังสือเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมการอ่านที่มีชื่อเสียงที่สุด เพราะนอกจากจะพัฒนาทักษะการอ่าน คำศัพท์และภาษาให้เด็กๆแล้ว ยังปลูกฝังให้เด็กๆมีทัศนเชิงบวกต่อการอ่าน และเติบโตเป็นนักอ่านถาวร
คณะทำงานค้นคว้าและถอดรหัสการพัฒนาการอ่านของ Oxford Reading Tree เพื่อสร้างฉบับภาษาไทยบอกว่า อ๊อกฟอร์ด ใช้เวลาศึกษาวิจัยยาวนานกว่า ๒๐ ปี ในการสร้างหนังสือต้นแบบ สอนการอ่านให้เด็กโดยไม่สอน หรือสอนให้น้อยที่สุด ให้เรียนรู้ตามระดับขั้นของทักษะการอ่านและประสบการณ์ จนกระทั่งได้ชุดหนังสือที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง และเด็กๆหลายประเทศทั่วโลกได้ประโยชน์
ส่วนฉบับภาษาไทยในชื่อ “ชุดฝึกการอ่านตามระดับ – Thai Reading Tree” นี้ ทราบมาว่าคณะทำงาน ทุ่มเทศึกษามาหลายปี ด้วยการสนับสนุนจาก #แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส จนกระทั่งสำเร็จ ออกมาเป็นชุดหนังสือชุดนี้
ทั้งได้ทราบมาด้วยว่าผู้ออกแบบรูปเล่มและภาพประกอบ (กฤษณะ กาญจนาภา และ วชิราวรรณ_ทัพเสือ) ก็ทำงานอย่างจริงจังเพื่อสร้างให้หนังสือมีชีวิต โดยเริ่มจากการออกแบบเมืองขึ้นมาหนึ่งเมือง มีผังเมือง ที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสนุก ฯลฯ และแหล่งที่อยู่อาศัยของตัวละคร ความเชื่อมโยง สังคม ฯลฯ แล้วจึงออกแบบเล่ม เพื่อเล่าเรื่องเหล่านั้นออกมาอย่างมีชีวิต
ความสำเร็จของหนังสือชุดนี้จึงเกิดจากการทำงาน ๒ ส่วน คือคณะวิจัยที่ทำงานถอดรหัสงานต้นฉบับ และผู้ออกแบบหนังสือ ซึ่งจะขาดอันใดอันหนึ่งหรือด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้เลย เพราะพลาดด้านหนึ่งก็พลาดทั้งหมด
ในการใช้งานนั้น คณะผู้พัฒนาบอกว่า ความยากอยู่ที่พฤติกรรมการสอนของครู เพราะครูของเราติด “สอนด้วยปาก” แต่หนังสือสอนอ่านชุดนี้ “สอนด้วยภาพและจังหวะของภาษา” เน้นให้เด็กๆฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยมีครูเป็น “ผู้ช่วย” ไม่ใช่ผู้สอน ดังนั้นผู้ที่ใช้แล้วได้ผลตามความมุ่งหมายของหนังสือ คือคุณครูที่ใช้ตามขั้นตอนที่คู่มือกำหนด
ทราบมาว่า ได้รับการตีพิมพ์จ่ายแจกและจำหน่ายไปแล้วเป็นจำนวนมาก และเริ่มได้รับการพิมพ์ซ้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบอกเป็นนัยว่าความกระหายอยากต่อหนังสือสอนอ่านที่ดีนั้นมีอยู่มากมาย เพราะนับตั้งแต่เราทิ้ง มานะ มานี ไป ก็ไม่มีหนังสืออะไรแบบนั้นมาทดแทนอีกเลย และหนังสือชุดนี้ก็แทบไม่ต่างจาก มานะ มานี เพราะสอนเป็นขั้นๆ จากง่ายไปหายาก เพียงแต่ไม่ได้สอนบนหน้ากระดานแบบที่เราเคยสอน นอกจากนั้น มันยังมีขั้น “ไม่สอน” รวมอยู่ด้วย เพื่อเปิดพื้นที่ให้เด็กๆคิดและอ่านด้วยตนเอง
เราหวังต่อไปว่า หนังสือชุดนี้จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย เพราะเด็กๆของเรามีปัญหาการอ่านมากมายเหลือเกิน และงานแบบนี้ไม่ควรจะเป็นงานในลักษณะโครงการหรือขององค์กรการกุศล มันควรเป็นงานที่เด็กๆทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเมื่อจะให้เด็กๆทุกคนเข้าถึงก็มีแต่ภาครัฐเท่านั้นที่จะช่วยได้
ขอบพระคุณ กฤษณะ กาญจนาภา และ วชิราวรรณ ทัพเสือ ที่แบ่งปันหนังสือชุดนี้ให้สมาคมไปศึกษาและเผยแพร่
แหล่งข้อมูล FB อ่าน อาน อ๊าน และ สมาคมไทสร้างสรรค์