เคยได้ยินคำกล่าวนี้ไหมคะ
“หนังสือดีต้องปล่อยให้เด็กได้คิดเอง”
ครูชีวัน วิสาสะ นักเขียนและนักวาดนิทานขวัญใจลูกหมี (อีเล้งเค้งโค้ง, คุณฟองนักแปรงฟัน ฯลฯ) เองก็เคยกล่าวไว้ว่า “คนเขียนมีความคิดมากมาย ไม่ต้องบอกเด็กทุกอย่าง ปล่อยให้เด็กคิดเอง กระตุ้นให้เด็กใช้ความคิด”
นั่นเพราะเด็กมีกระบวนการเรียนรู้ได้เองค่ะ
มนุษย์เกิดมาพร้อมกระบวนการเรียนรู้ (Jean Piaget 1896-1980) ดังนั้นเราต้องให้สมองของเด็กได้ทำงาน (Active learning) เพื่อ “รักษา” และ “ต่อยอด” กระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาตินี้ไว้ แทนที่จะให้รับข้อมูล/คำสอนอย่างเดียว (Passive learning)
ขณะอ่านนิทานหรือฟังพ่อแม่อ่านนิทานให้ฟัง สมองของเด็กจะเกิดการเรียนรู้ได้เองใน 2 เรื่องหลักๆ
1. การเรียนรู้ทักษะภาษา
2. การเรียนรู้ทักษะการตีความทำความเข้าใจ หรือก็คือทักษะการใช้ความคิดนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น #การคิดระหว่างอ่าน #การคิดต่อยอดจากสิ่งที่อ่าน #การคิดวิเคราะห์งานเขียน นำไปสู่การค้นพบ/เข้าใจ/ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง ซึ่ง #ทำให้เด็กเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะแนวคิดเชิงนามธรรม (อ่านรายละเอียดเรื่องทักษะการคิดขณะอ่านได้ที่โพสต์ “อ่านออกเขียนได้ แต่ไม่เข้าใจ (1) https://web.facebook.com/ruready2read/posts/1416688935017470)
การเรียนรู้ทักษะภาษาเกิดจากการได้ซึมซับไปเรื่อยๆ ส่วนการได้ตีความทำความเข้าใจเองนั้น เกิดจาก “บันไดล่องหน” ที่หนังสือสร้างไว้ ช่วยนำเด็กไปสู่การตีความ ตัวอย่างเช่น
#…มีพล๊อตที่สั้น กระชับ แนวคิดชัดเจน
#…เป็นเรื่องที่มีปัญหา/ความขัดแย้ง ต้องการคำตอบ
#…เรื่องและภาพที่ทำให้เด็กมีอารมณ์ร่วม เอาตัวเองเข้าไปแทนตัวละครในเรื่องได้ ไม่ว่าจะตลกสนุกสนาน เศร้าเสียใจ ลุ้นระทึก ลึกลับผจญภัย
#…ภาพให้รายละเอียดฉาก/ตัวละครเพิ่มเติม เช่น บรรยากาศ อารมณ์ ความรู้สึก เพื่อความเข้าใจที่มีมิติมากขึ้น
#…ภาพซ่อนรายละเอียดในฉากที่คู่ขนานไปกับเรื่องหลัก หรือมาเป็นไคลแม็กซ์ของเรื่องหลัก
#…การซ่อนคำใบ้ไว้ในภาพ หรือเนื้อเรื่องที่มีแบบแผนให้คาดเดาได้ ให้คาดเดาเรื่องในหน้าถัดไป
#…ไม่อธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างความรู้สึก บอกวิธีคลี่คลาย หรือสรุปเรื่องในคำบรรยาย แต่ใส่ไว้ในภาพ ทิ้งให้เด็กตีความเอง
#…การใช้ภาษากับภาพที่ตรงกันข้ามกัน
ลักษณะเหล่านี้หากมีในหนังสือ จะทำให้เด็กสนใจอยากอ่านแล้วอ่านอีกจนเข้าใจได้เองในที่สุดค่ะ
#ที่สำคัญที่สุดคือเด็กจะรู้สึกภูมิใจที่ได้ค้นพบและเข้าใจด้วยตนเอง
ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจวิธีการใช้หนังสือประเภทนี้
อย่าเพิ่งรีบสรุปบทเรียนให้เด็ก หรือคิด (เอาเอง) ว่ายากเกินไปที่จะอ่านให้เด็กฟัง
อดใจรอค่ะ เชื่อมั่นว่าเด็กมีกระบวนการเรียนรู้ได้เอง
แล้วเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้ความคิดจนค้นพบด้วยตัวเองของเขาเองนะคะ
จากที่เลือกๆ หนังสือให้ลูกหมี
แม่หมีพบหนังสือหลายเล่มเลยค่ะที่ไม่ได้เล่ามาก
แต่โดนใจเด็ก และสร้างความเข้าใจเรื่องเชิงนามธรรมได้ดี
ตัวอย่างเช่น
เรื่อง “หมวกใบเล็กของเจ้าปลาใหญ่” โดย จอน คลาสเซน
เรื่อง “นิ่ง” โดย ครูชีวัน วิสาสะ (เล่มนี้ได้รับเลือกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยนะคะ)
เรื่อง “เม่นหลบฝน” โดย อ.ปรีดา ปัญญาจันทร์
เรื่อง “หมีใหญ่จอมกอด” โดย นิโคลาส โอลด์แลนด์
เรื่อง “กูจี กูจี” โดย เฉิน จื้อ หยวน
หรือใครมีเล่มไหนก็แนะนำในโพสต์นี้ได้เลยค่ะ
ยิ่งเป็นเล่มโปรดของลูกยิ่งดี
เผื่อจะเป็นตัวอย่างในการเลือกหนังสือให้กับคุณพ่อคุณแม่บ้านอื่นๆ ด้วยนะคะ
แหล่งข้อมูล FB อ่าน อาน อ๊าน