การที่เด็กเติบโตขึ้นมาในครอบครัวหรือชุมชนใด
เด็กย่อมได้รับอิทธิพล ความคิด ความเชื่อ
และแนวทางการปฏิบัติตนของครอบครัวและชุมชนนั้น
เมื่อเด็กเรียนรู้ถึงความคิด ความเชื่อ และ การปฏิบัติเช่นนั้น
ก็จะมีความคิดความเชื่อและปฏิบัติตนในลักษณะเดียวกัน
เพื่อให้เกิดความกลมกลืนเป็นที่ยอมรับ และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง
หนังสือภาพมักจะแฝงไว้ซึ่งความเชื่อ ค่านิยมของสังคมหรือชุมชนนั้นๆ
เมื่อเด็กอ่านหรือฟังเรื่องราว จะช่วยให้เด็กเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคม
รู้จักที่จะปฏิบัติตนอย่างไรต่อผู้อื่น
รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากของตน
รู้ความประพฤติที่เป็นที่ยอมรับและไม่เป็นที่ยอมรับ
รู้ว่าอะไรผิดหรือถูก
รู้บทบาทของบุคคลต่างๆ
รวมทั้งรู้จักบทบาทของตนเองทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน
.
May Mill Aebuthnot และ Zena Sutherlam (1972)
ได้สรุปไว้ในหนังสือ Children and Books ว่า
“ในกระบวนการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เด็กต้องค้นหาความสมดุลระหว่างการใช้ ชีวิตอย่างมีความสุข
และดำรงตนในสังคมให้เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป
หนังสือภาพสำหรับเด็ก ช่วยให้เด็กเข้าใจตนเองและสังคมดีขึ้น
หนังสือให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กเอง และความเป็นไปในสังคม
ที่เด็กจะต้องเผชิญเมื่อเติบใหญ่
หนังสือภาพจึงมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมในการกล่อมเกลา
และเตรียมเด็กให้พร้อมเข้าสู่สังคม”
แหล่งข้อมูล แก่นสาระและสุนทรียภาพหนังสือเด็กปฐมวัย มูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน