เอาจริงๆมันก็ไม่ได้มีสูตรตายตัวนะคะ
แต่จะมาแชร์ในฐานะมนุษย์แม่รุ่นพี่
ที่เลือกซื้อหนังสือแทบทุกประเภท
เอาความรู้จากการเป็นหมอเด็กที่รู้เรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็ก
มาประยุกต์ในการเลือกซื้อหนังสือด้วยค่ะ
.
หนังสือที่ซื้อไปให้ลูก
ส่วนใหญ่เลือกกันตามรสนิยมของแม่เป็นหลัก…
เพราะฉะนั้น เราอย่าหวังว่ามันจะปังทุกเล่มนะคะ
คงจะมีเล่มที่ลูกเชิดใ่ส่ ให้แม่ใจสลายเล่น
โดยเฉพาะถ้าเล่มนั้นเป็นหนังสือราคาแพง option สูง
ที่แม่วาดภาพในใจว่าลูกเห็นแล้วต้องกรี๊ด
อ่านกันสนุกสนานสองแม่ลูก แต่ความเป็นจริง
ลูกเห็นแล้วทำนัยตาว่างเปล่าใส่…..อย่าได้จิตตกค่ะ…เหตุการณ์ปกติ
เจอกันทุกบ้าน…และหนังสือมันไม่เน่าไม่เปื่อย เอามานำเสนอวันหลังได้ค่ะ
แล้วเรายังเอามาเป็นสื่อสารสอน เล่นเกมส์ได้อีกในภายหลัง
(เดี๋ยวจะแบ่งปันเทคนิคนี้ทีหลังนะคะ)…หนังสือก็เป็นแค่เครื่องมือ แต่สิ่งที่เด็ดสุดคือ”แม่” นี่แหละค่ะ จะชอบหรือไม่ชอบ บางทีขึ้นอยู่กับเราเลยค่ะ
.
++++อายุ 0-4 เดือน++++
– เด็กวัยนี้เป็นวัยที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก
ลูกเรียนรู้แม่ แม่ก็เรียนรู้ลูกเช่นกัน
ความสามารถยังไม่มากนัก คอยังไม่แข็ง
เรื่องหนังสือ ไม่ได้ซีเรียสเลย
#เอาชีวิตประจำวันให้_happyดีทั้งแม่ลูกก่อน
เพราะเด็กที่มีความสุขเท่านั้น ที่เรียนรู้ได้ดี
หรือถ้าอยากจะเริ่มก็จะเป็นพวก
visual stimulation pictures
และพวกหนังสือภาพนอนอ่านกับลูก
หรือเป็นหนังสือลอยน้ำเอาไว้ให้เล่นตอนอาบน้ำ
หนังสือผ้าให้เค้าคว้าเล่นได้ เพราะมันเบา และไม่มีเหลี่ยมคม
แถมเอามากัดตอนคันเหงือกได้อีก
เพราะมันสามารถซักทำความสะอาดได้
ซึ่งการที่ได้อ่านหนังสือกับลูกในวัยนี้
สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ความเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหนังสือ แต่เราต้องการ
1.ลูกได้ฟังเสียงของคนที่เค้ารัก ได้คุ้ยเคยกับสำเนียง น้ำเสียงของคนในครอบครัว นึกดูซิคะ ลูกยังไม่มีเรื่องจะพูดกับเรา แม้เราจะพูดกับลูกในทุก step ของกิจวัตรประจำวัน แต่การมีหนังสือเป็นสื่อ ก็ได้มี topic ใหม่ๆ ดีทั้งกับแม่กับลูกเลยนะคะ
2.เด็กจะเริ่มเข้าใจ concept ของหนังสือ ว่า อ๋อ มีอันนี้แล้วแม่ชี้ให้ดูรูป มีสิ่งแปลกใหม่น่าสนใจข้างใน และเข้าใจว่าต้องเปิด ต้องกวาดตาจากซ้ายไปขวา (ยกเว้นเด็กญี่ปุ่นนะคะ ^-^)
3.เข้าใจจังหวะของภาษา เพราะหนังสือเด็กเล็กๆ ใช้คำน้อย แต่มักจะคล้องจองกัน เป็นคำสั้นๆ หรือแม้แต่พวกคำกลอนโบราณที่เราได้ยินจากแม่ของเรา มาพูดกับลูกเค้าจะชอบค่ะ
4.รู้ว่าเวลาของการอ่านมันเป็นเวลาแห่งความสุข ท้ายที่สุดเมื่อโตขึ้นเค้าก็จะอยากทำมันซ้ำๆค่ะ
++++ อายุ 4-6 เดือน ++++
จริงๆจะไม่แยกอายุนี้ก็ได้นะคะ
แต่หมอเป็นคนที่ชอบเด็กอายุ 4-6 เดือนมากเป็นพิเศษ
เพราะเด็กวัยนี้ น่ารัก ชอบกรี๊ดกร๊าด ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ
แถมยังไม่ค่อยมีความกลัว บุคลิกคือ ชอบคว้าจับ เอาของมาเข้าปาก
(เป็นความสุขและเป็นการเรียนรู้ของเค้าค่ะ แทนที่จะไม่ให้เค้าคว้าของเข้าปาก เพราะกลัวเชื้อโรคหรืออันตราย ให้คิดกลับกันว่าให้สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเค้า…ไม่มีอันตราย เอาอะไรมาอม มาชิมก็ไม่อันตรายดีกว่า)
ดังนั้นหนังสือที่จะแนะนำคือ
– หนังสือภาพสีสันสดใส ภาพใหญ่ๆชัดๆ ถ้าเป็นไปได้ เอาภาพของจริง หรือใกล้เคียงของจริงที่สุดก่อน เอาเค้ามานั่งตัก ชี้ให้มองตาม สายตาจะมองเห็นภาพสีสดๆได้ค่อนข้างชัดแล้วค่ะ
– หนังสือที่มีลูกเล่นกระตุ้น ประสาทสัมผัส มีพื้นผิวแตกต่างกัน (touch and feel) จับมือเค้าให้ลองลูบดูค่ะ หนังสือพวกนี้ใช้ได้จนกว่าเด็กจะเบื่อเลยค่ะ
– พวก pop up book ต่างๆ ก็กระตุ้นความสนใจได้ดีนะคะ
– หนังสือ หรือของเล่น ที่มีกระจก หรือจะเอากระจกไปให้เธอส่องหน้าก็ได้ วัยนี้เป็นวัยนกหงส์หยก ชอบมองหน้าตัวเอง เพราะมันเป็นก้าวหนึ่งของพัฒนาการที่เด็กจะมีความสามารถจดจำบุคคลได้ บางคน 4 เดือน ก็จำหน้าคนในครอบครัวได้แล้วค่ะ
พวก lift the flap จะยังไม่ค่อยกระตุ้นเด็กมากในวัยนี้ เพราะเค้ายังไม่มี sense ของ permanent object ค่ะ หมายความว่า วัตถุไหนไม่เห็น จะแปลว่าไม่มีอยู่ ดังนั้นเค้าก็จะไม่ตื่นเต้นที่ภาพปรากฏขึ้นมาแล้วหายไป
– หนังสืออะไรก็ได้ที่แม่อยากอ่านค่ะ อย่างที่บอกค่ะ มันอยู่ที่การนำเสนอ จับนั่งตักแล้วจะชี้ให้ดูแคตตาลอกสินค้าก็ยังได้…..แต่เราต้องทำด้วยความสุข และตัดความคาดหวังออกไปให้หมด ถ้าลูกยอม ก็ทำต่อไป แต่ถ้าต่อต้าน เพราะมีอย่างอื่นน่าสนใจกว่า ก็ห้ามฝืนเด็ดขาดเลยนะคะ อย่าลืม mission ระยะยาวของเรา…ปลูกนิสัยรักการอ่าน
++++ วัย 6 เดือน – 1 ปี ++++
วัยนี้แม่ลูกจะรู้ใจกันมากแล้วค่ะ…สำหรับหมอ เป็นวัยของการสร้างคลังคำศัพท์….เหมือนเดิมเลยค่ะ การเรียนรู้คือการทำซ้ำๆ สมองจะสร้าง fast track ให้สิ่งที่เจอซ้ำๆ
– หนังสือที่กล่าวมาทั้งหมดข้างบนยังใช้ได้อยู่ พอเค้าเริ่มคุ้น เริ่มให้มองเห็นสิ่งเดียวกันนั้น ในหลายๆเวอชั่น เช่น เด็กที่บ้านหมอสนใจหมวดสัตว์ก่อน จะมีหนังสือเกี่ยวกับสัตว์หลายเล่มมาก ลูกชอบแมว ลูกก็จะเห็นว่าแมวมันไม่ได้มีสีเดียว ไม่ได้หน้าตาเดียวกัน มันมีหลายสี หลายพันธ์ หน้าตาหลายแบบ และถ้าภาพแมวที่เป็นภาพวาดต้องมีหูตั้งๆ และมีหนวดนะ ทีนี้ไม่ว่าจะเจอแมวยังไง เด็กก็จะรู้ว่านั่นแหละแมว…เด็กๆเค้ามี sense เรื่องการจับ character มากนะคะ
– หนังสือ lift the flap หรือ pop up book จะสนุกมาก เพราะมี sense ว่า permanent object แล้วไงคะ คือวัตถุที่ถูกบัง ไม่ได้หายไปไหน ยังอยู่ตรงนั้นแหละ วัยนี้ถึงชอบให้เล่นจ๊ะเอ๋ไงคะ
– หนังสือที่มีลูกเล่นทั้งหมด เด็กสนุกหมดค่ะ ชอบเอานิ้วเขี่ยๆ เอามือมาแหย่รู หรือแกะชิ้นส่วน
– ฟังนิทานที่เป็นเรื่องราวง่ายได้แล้วค่ะ ลองนึกซิคะ ว่าคำแรกๆที่ผู้ใหญ่สอนให้เด็กพูดคืออะไร…เหมือนเอาไว้ออกงาน
สวัสดี…ขอบคุณ…ขอโทษ ประมาณนี้ใช่มั้ยคะ
หรือเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน ซึ่งแต่ละสำนักพิมพ์ก็จะมี start book ที่เป็นนิทานง่ายๆ มีตัวละครเดินเรื่อง 1 ตัว และมีคำพูดซ้ำๆ ภาพใหญ่ ลายเส้นง่ายๆ…เอาอย่างนี้ค่ะ หนังสือที่เราคิดว่า ดังได้ไง ไม่เห็นมีอะไรเลย…นั่นล่ะค่ะ…เด็กจะชอบ
– flash cards อยากให้ลูกดูอะไร…จัดมาค่ะ…อย่าลืมนะคะ เด็กไม่มีคำว่ายาก…มีแต่คำว่าเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น (ซึ่งเรื่องของ flash card จะมาแชร์ในโพสต์ถัดไปละกันนะคะ)
– นอกจากประสบการณ์ที่ได้รับจากหนังสือ อย่าลืมต่อยอดด้วยการหาโอกาสให้เค้าไปเจอของจริง เค้าจะตื่นเต้น และภูมิใจมากว่าเค้าได้รู้จักสิ่งนั้นๆมาก่อนแล้ว จะแชร์เทคนิคที่บ้านอีกอย่าง คือพวก wall sticker ต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเจอซ้ำๆ อยากสอนเรื่องอะไร…จัดมาค่ะ ..ติดตรงสถานที่ที่ต้องใช้เวลาทุกวัน ที่บ้านติด sticker สัตว์ในห้องน้ำ ในห้องนอน ไม่ต้องแปลกใจนะคะว่าลูกสาวรู้จักสัตว์เป็นร้อยชนิดก่อนอายุ 2 ขวบ และไม่ใช่รู้จักว่านี่ปลา แต่แยกเป็น ปลาคาร์ฟ ปลาทอง ปลาวาฬ ปลาฉลาม ปลาโลมา นกแก้ว นกเอี้ยง นกพิราบ ฯลฯ หลังจากนั้นรู้เลยค่ะ ว่าถ้าทำต่อไป ลูกได้เป็นนักธรรมชาติวิทยาแหงๆ 555
++++ 1-2 ปี ++++
วัยนี้พูดคล่องหรือยังไม่ใช่ประเด็นค่ะ…แต่เค้าเข้าใจสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดเกือบหมด และเอาศัพท์ที่อยู่ในคลังสมอง มาร้อยเรียงกันได้
ดังนั้นเค้าเข้าใจเรื่องราวในนิทานได้ดีแล้วค่ะ
ถ้าบ้านไหนเริ่มตั้งแต่ step แรก เหมือนกับที่บ้านของหมอ…มาถึงจุดๆนี้ ไม่ต้องถามแล้วค่ะว่าเลือกยังไงดี
เด็กนั่นแหละจะเลือกให้เราอ่านแล้ว
เราแค่หาตัวเลือกเป็นหนังสือดีๆให้ลูกพอสมควร ไม่ต้องมาก และไม่ต้องแพง วัยนี้เป็นวัยแห่งความเป็นตัวของตัวเอง อะไรที่เค้าชอบ เค้าจะทำซ้ำๆๆๆๆๆ เหมือนไม่รู้จักคำว่าเบื่อเลยค่ะ
เทคนิคของที่บ้านคือ…อยากปลูกฝังเรื่องอะไรก็หาเรื่องนั้นมาอ่าน
เช่นอยากให้ลูกนั่งกระโถน ก็หานิทานเรื่องนั่งกระโถน
อยากให้แปรงฟัน ก็หานิทานเรื่องเกี่ยวกับแปรงฟัน
อยากให้เก็บของเล่น ก็หานิทานเก็บของเล่น
build อารมณ์ไปค่ะ build ซ้ำๆค่ะ
++++ 2 ปีขึ้นไป ++++
ตอนนี้เด็กแต่ละคน มีความชอบจำเพาะแล้วค่ะ
เลือกตามอัธยาศัยเลยค่ะ
แต่วัยนี้เป็นวัยสร้างวินัย เราจะสอนผ่านตัวละคร ซึ่งเค้ามักจะถูกใจตัวละครที่ซ้ำๆ เพราะมันเหมือนเป็นตัวแทนของเค้าไงคะ
ไม่น่าแปลกใจใช่มั้ยคะ…ที่เด็กผู้หญิงต้องรู้จักพี่กุ๋งกิ๋ง
เด็กผู้ชายต้องรู้จัก พี่ป๋องแป๋ง
หรืออีกหลายๆตัวละคร เช่นตุ๊กติ๊กกับตุ๊บป่อง จีโน่
เพราะเด็กเค้าก็มีความผูกพันธ์กับตัวละคร เหมือนผู้ใหญ่ติดละครนั่นล่ะค่ะ
นอกจากตัวละครโปรด หนังสือนิทานที่เป็นเรื่องราว ถ้าเป็นไปได้ ให้เลือกหนังสือที่เป็นวรรณกรรมชั้นดีนะคะ
เพราะพวกอาจารย์ชั้นเซียน เค้ามีวิธีในการสื่อสารกับเด็ก แบบลุ่มลึก…จริงๆนะคะ (จะแนะนำให้รู้จักนักเขียนชั้นครู ทั้งของไทย และของต่างประเทศในครั้งหน้านะคะ)
เขียนมาซะยืดยาว…ถ้าใครอ่านจนจบได้ ถือว่าเราทำบุญมาร่วมกันนะคะ….และอย่าลืมแชร์ประสบการณ์ของที่บ้านให้หมอได้รู้ด้วยนะคะ จะได้เก็บเป็นข้อมูล และเป็นตัวแทนบอกต่อสิ่งดีๆให้กับแม่ลูกอ่อนรุ่นน้องต่อๆไป
แหล่งข้อมูล FB หมอแพมชวนอ่าน (พญ.ปุษยบรรพ์ สุวรรณคีรี)