อ่านหนังสือให้ลูกฟังมิได้ให้คาดหวังว่าลูกจะรักการอ่านหรือฉลาด สองเรื่องนี้เป็นเพียงผลพลอยได้ และเราก็ไม่ควรคาดหวังอะไรเช่นนี้ในการเลี้ยงลูก
อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนได้อะไรมากกว่านี้ดังที่เล่าให้ฟังในโพสต์ก่อนหน้านี้ ดีที่สุดคือนี่เป็นเวลาที่ทุกคนจะได้ปิดมือถือและอยู่ร่วมกัน เจาะลึกเฉพาะด้านพัฒนาการทางจิตใจ จิตใจเด็กมีการพัฒนาตลอดเวลา ดังนี้
“นิทานสำหรับเด็กมักมีองค์ประกอบของเรื่องราวที่เหนือจริง เป็นแฟนตาซี และไม่มีเหตุผลรองรับ คือรูปแบบความฝันของคนเรา นั่นคือ ไม่ใช่เรื่องจริง เป็นแฟนตาซี และไม่มีเหตุผลรองรับ ด้วยเหตุนี้ทำให้เราสามารถตีความนิทานได้หลากหลายทำนองเดียวกันกับตีความความฝันได้หลากหลาย
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud 1856-1939) เป็นคนแรกๆ ที่ใส่ใจตีความนิทานสำหรับเด็ก โดยพุ่งประเด็นไปที่จิตใต้สำนึก กล่าวโดยสรุปคือตัวละครในนิทานสำหรับเด็กมีชีวิต มีแรงจูงใจ และกระทำการต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความพึงใจเป็นสำคัญ(libido) ไม่ว่าความพึงใจนั้นจะเป็นเรื่องอะไรหรือซับซ้อนเพียงใดก็ตาม
ฟรอยด์เชื่อว่าตัวละครในนิทานสำหรับเด็ก ซึ่งก็คือตัวเด็กเองที่กำลังฟังนิทานหรืออ่านนิทาน มีความปรารถนาที่จะแช่แข็งความสุขไว้ที่ตรงนั้น ไม่ปรารถนาจะเติบโต พึงใจที่จะเป็นลูกในครรภ์ของแม่ตลอดไป หรือแม้ว่าคลอดมาแล้วก็ปรารถนาที่จะเป็นเด็กเล็กที่คุณแม่มีแต่ให้และให้โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งไม่เคยเรียกร้องอะไรจากเขาตอบแทนเลย ไม่เหมือนตอนที่เขากลายเป็นเด็กโตซึ่งจะถูกคาดหวังจากคุณแม่มากขึ้นทุกทีๆ
คาร์ล จุง (Carl Jung 1875-1961) เห็นต่างจากฟรอยด์ จุงตีความนิทานสำหรับเด็กว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เด็กเจริญเติบโต พัฒนาต่อไป จากลูกของแม่กลายเป็นบุคคลอิสระ (individuation) ตัวละครในนิทานสำหรับเด็กจะแสดงให้เห็นการเปลี่ยนผ่าน และคอยช่วยเหลือให้เด็กที่กำลังอ่านหรือฟังนิทานเปลี่ยนผ่านด้วย
แม้ว่าในฐานะบุคคลอิสระ เด็กอาจจะต้องการแช่แข็งความสุขและเสพติดความสุขไม่ยอมเติบโต แต่ตามทัศนะของจุงซึ่งเชื่อในเรื่องจิตใต้สำนึกรวมหมู่ (collective unconscious) แรงจูงใจของจิตใต้สำนึกที่จะเป็นส่วนหนึ่งของส่วนใหญ่มักเอาชนะความปรารถนาที่จะอยู่กับที่ แล้วทำให้เด็กต้องก้าวต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นิทานสำหรับเด็กบางเรื่องจึงไม่เพียงช่วยให้เด็กก้าวเดิน แต่อาจจะถึงกับทำลายวิมานที่เคยมีอีกด้วย และไม่ถดถอยอีก
บรูโน เบธเธลเฮม (Bruno Bettelheim 1903-1990) นักจิตวิเคราะห์สมัยใหม่ซึ่งได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียง Use of Enchantment: The Meaning and Importance of Fairy Tales ในปี 1976 และหนังสือตีความเทพนิยายอีกหลายเรื่องกล่าวว่า นิทานสำหรับเด็กรวมทั้งเทพนิยายเป็นเครื่องมือที่เด็กๆ ใช้รับมือโลกที่ไม่เป็นไปตามที่พวกเขาเคยฝัน และช่วยพวกเขาให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกที่ปกครองโดยพวกผู้ใหญ่ (adult)
นิทานส่วนใหญ่เล่าเรื่องความขัดแย้งหรือความไม่สมหวังในครอบครัว ในชีวิต รวมทั้งข้อขัดแย้ง (conflict) ด้านศีลธรรม บาปบุญ กติกาสังคม หรือข้อห้ามทางประเพณี เด็กๆ อาศัยตัวละครในนิทานจำนวนมากพาพวกเขาก้าวผ่านข้อขัดแย้งเหล่านี้แล้วเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดอ่านของตนเอง ตัวละครในนิทานใดๆ ที่ดูมิใช่คนดีตามนิยามที่รับรู้กันมักได้รับความสนใจจากเด็กๆ เป็นพิเศษ พวกเขาโกหก ลักขโมย หนีออกจากบ้าน ฆ่าสัตว์ จุดไฟเผา เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่เด็กทุกคนในโลกอยากจะทำ แต่ทำด้วยความสะดวกใจไม่ได้
นิทานจะสนุกสนานหรือโลดโผนเพียงใด คนตัวเล็กตัวน้อยในนิทานทุกเรื่องมักรอดชีวิตเป็นปกติสุขในตอนท้ายเสมอ เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ดูเหมือนไร้ความสำคัญในสายตาของผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว นี่กลับเป็นประเด็นที่สำคัญมาก โลกจะเลวร้ายเพียงใด ผู้ใหญ่จะโหดร้ายเท่าใด พวกเขาอาจจะทำอะไรผิดๆ พลาดๆ ทุกวัน แต่พวกเขาจะรอดปลอดภัยเสมอ”
***
แหล่งข้อมูล นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ตัดตอนจากบทกล่าวนำ นิทานสำหรับเด็กเรื่องเยี่ยม 3 เรื่อง มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม จาก FB อ่าน อาน อ๊าน