กลับมาตามสัญญาค่ะ
หลังจากแม่หมีเขียนถึง 11 ทักษะการอ่านของ Fountas and Pinnell ไปในตอนที่แล้ว
ตอนนี้เรามาดูกันว่าในแง่มุมของ Executive Function (EF) พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างไร
…
EF เป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงการทำงานของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิตของคนเรา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตการเรียน การงาน และชีวิตครอบครัว เรียกว่าเป็น “ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ” นั่นเอง
…
ทฤษฎี EF บอกว่าการสอนอ่านควรพัฒนาทักษะสมอง 7 ด้าน ได้แก่
:: 1.ความรู้เกี่ยวกับการอ่าน :: รู้ว่าภาษาเขียนมีความหมาย มีจุดมุ่งหมาย มีแบบแผนของการเขียน
:: 2.ความเข้าใจในหลักการของภาษา :: รู้ว่ามีระบบกฎเกณฑ์ของตัวอักษร การออกเสียง ความหมายของคำ โครงสร้างของเรื่องราว
:: 3.ความรู้และทักษะทางการคิด :: รู้เกี่ยวกับโลก สามารถจดจ่อในสิ่งที่อ่านได้ จัดระบบความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่อ่านนำมาเชื่อมกับความรู้เดิมที่มี จดจำข้อมูล นำข้อมูลกลับมาใช้ คิดวิเคราะห์ ให้เหตุผล แยกแยะ คาดการณ์ ตีความ อ้างอิง ฯลฯ
:: 4.รู้เป้าหมายของการอ่าน :: ทำไมถึงอ่านเล่มนี้
:: 5.สำรวจเบื้องต้น :: เพื่อรู้ว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเรื่องอะไร
:: 6.ตีความเนื้อหา :: ระหว่างอ่านมีการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถาม สังเคราะห์ และสรุปประเด็นหลัก
:: 7.ประเมินความเข้าใจในเรื่องราวที่อ่าน :: รู้ว่าตนเองเข้าใจเรื่องราวที่อ่านมากน้อยแค่ไหน
…
จากทักษะ 7 ด้านที่กล่าวมา
การสอนอ่านของเรามุ่งเน้นไปที่ข้อ 2 คือ ความเข้าใจในหลักการของภาษา
แล้วด้านอื่นๆ ละ?
…
เพราะเข้าใจ(ผิด)ว่าการสอนอ่านนั้นมุ่งหมายเพียงเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้
เราจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะการคิดจากการอ่าน
เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจึงอ่านได้ แต่วิเคราะห์ไม่เป็น บอกเล่าไม่ได้
รู้ความหมายของคำ แต่ไม่เข้าใจเรื่องราว
หรืออีกทีก็ไปสอนกันตอนโต ซึ่งแม่หมีบอกได้เลยค่ะว่า…ไม่ทันการณ์
เพราะนักวิจัยต่างชี้ชัดว่าเวลาทองของการพัฒนาทักษะ EF คือช่วงปฐมวัย 3-6 ปี
…
มาเริ่มสร้างรากฐาน “การอ่าน” ที่แข็งแรงให้กับเด็กๆ ของเรากันเถอะค่ะ
เขาจะได้มีเครื่องมือไว้พัฒนาทักษะต่างๆ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเองต่อไป
แหล่งข้อมูล FB อ่าน อาน อ๊าน