บทนำ
ชื่อเรื่องว่าอ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ เป็นความพยายามที่จะเขียนถึงประโยชน์ของการอ่านนิทานให้ลูกฟังอย่างเป็นระบบอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อได้ว่าหลังจากนี้อีกไม่นานก็จะไม่สมบูรณ์อีกเพราะงานวิจัยวิทยาศาสตร์ด้านสมองก้าวหน้าไม่หยุดยั้ง นับวันเรายิ่งอธิบายได้มากขึ้นว่าเพราะอะไรการอ่านนิทานให้ลูกฟังจึงมีประโยชน์
มิใช่สักแต่ว่าพูดลอยๆ ได้ว่ามีประโยชน์ แต่ทำไมถึงมีประโยชน์
เพราะอะไรจึงว่าเขียนอย่างไรก็ไม่มีวันสมบูรณ์ เหตุผลหนึ่งคือเพราะจำนวนเซลล์ประสาท (neurons) ในสมองของคนเรามีจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ละเซลล์มีเส้นประสาท (nerves) ออกจากตัวเองไปรับสัญญาณประสาทมาจากเซลล์ประสาทอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน เกิดเป็นจุดเชื่อมต่อ (synapses) ของเซลล์ประสาทจำนวนยิ่งกว่านับไม่ถ้วน
และเพราะการอ่านหนังสือ 1 คำ รูปภาพในหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็ก 1 ภาพ กระทบต่อเซลล์ประสาทและจุดเชื่อมต่อเหล่านี้นับไม่ถ้วน ประโยชน์จึงนับไม่ถ้วนตามไปด้วย
หลายปีที่บรรยายและเขียนหนังสือ ผมพบว่าตะครุบเนื้อหาเรื่องการอ่านได้ไม่หมดเสียทีจริงๆ ด้วย ประโยชน์ของการอ่านนิทาน 1 ข้อสามารถแตกออกได้เป็นอีกหลายข้อเหมือนเซลล์ประสาท และอีกหลายข้อนั้นสามารถแตกออกไปหรือย้อนกลับมาเพิ่มพลังให้กันและกันได้อีกหลายข้อจนกระทั่งจัดหมวดหมู่ก็ไม่ค่อยจะได้อีกด้วย พูดง่ายๆ ว่าประโยชน์ทั้งทางด้านจิตวิทยา ชีววิทยา และสังคมศาสตร์มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันตลอดเวลา
เอาแค่เรื่องจำนวนของจุดเชื่อมต่อ เราพบเรื่อยๆ ว่าตำราแต่ละเล่มไม่เคยเขียนตรงกัน เหตุผลคือเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าคนเรามีจุดเชื่อมต่อมากเท่าไรกันแน่ ยกตัวอย่างตำรา Executive Function เล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2018 เขียนว่าเรามีเซลล์ประสาทหนึ่งแสนล้านตัว (100 billion neurons) ซึ่งแต่ละตัวสามารถแตะกับเซลล์ประสาทอีก 10,000 ตัว ทำให้เรามีจุดเชื่อมต่อได้มากถึงหนึ่งพันล้านล้านจุด (1 quadrillion synapses) ในขณะที่บทความหนึ่งในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนกรกฎาคม 2019 เขียนว่าเรามีเซลล์ประสาทหนึ่งแสนล้านตัว (100 billion neurons) และจุดเชื่อมต่อหนึ่งร้อยล้านล้านจุด (100 trillion synapses) อธิบายได้ว่าจำนวนจุดเชื่อมต่อที่ต่างกันมากมายนี้เป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองเด็กกับสิ่งแวดล้อม มากกว่าเยอะกว่า
คืออ่าน เล่น ทำงานมากกว่า มีจุดเชื่อมต่อมากกว่า
มีอีกเรื่องหนึ่งที่ขอขยายความก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อเรื่อง คือเรื่องคำว่า ‘ก่อนนอน’ ผมมักเขียนและพูดเสมอว่าอ่านนิทานก่อนนอน ไม่ค่อยจะพูดหรือเขียนว่าอ่านนิทานเฉยๆ เท่าไรนัก เหตุผลหนึ่งคือเราใส่ใจมากเรื่องจังหวะ (rhythm) ดังที่ทราบกันว่าเด็กๆ เรียนรู้ชีวิตด้วยจังหวะมากกว่าคำสั่งสอน
เช่น เด็กที่เรียนรู้ว่าในหนึ่งวัน เรามีจังหวะชีวิตที่สำคัญ 4 จังหวะ คือ กิน กิน กิน และนอน และถ้าเขาควบคุมตนเองให้เรียบร้อยใน 4 จังหวะนี้ได้ เขาควบคุมตนเองได้ทั้งหมด เรื่องนี้มิได้โม้ ชาวตะวันตกเลี้ยงลูกให้ช่วยเหลือตนเองเท่านี้จริงๆ จากนั้นเด็กๆ จะมีโอกาสได้ลองผิดลองถูกด้วยตนเองค่อนข้างมาก และตบตนเองให้เข้ารูปเข้ารอยทีละเรื่องสองเรื่องได้เอง โดยไม่ต้องปากเปียกปากแฉะเหมือนบ้านเรา
เราไล่ป้อน 3 มื้อ แล้วปล่อยปละละเลยเรื่องเวลาเข้านอน ผลที่ได้คือเละทุกเรื่อง
การอ่านนิทานก่อนนอนมีประโยชน์ตรงที่เราได้ใช้เวลาอ่านนิทานก่อนนอนเป็นการกำหนดจังหวะที่ 4 นี้ให้ตรงเวลาทุกคืน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ปีละประมาณ 300-360 คืน ที่เราจะได้คือจังหวะการนอนที่ชัดเจน และมากกว่านี้คือแม่/พ่อที่มีอยู่จริง
บ้านที่อ่านนิทานก่อนนอน และเริ่มต้นอ่านตรงเวลา เช่น สองทุ่มครึ่งตรง (สองทุ่มยังไม่ถึงบ้าน ดึกกว่าสามทุ่มถือว่าดึกเกินไปสำหรับเด็กเล็ก) พ่อและแม่อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าสะอาดเข้าห้องนอนพร้อมลูก วางมือถือ ปิดเครื่อง แล้วอ่านนิทาน 3-5 เล่มโดยไม่มีอะไรรบกวนเลย 30 นาทีทุกคืน เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้จากความสม่ำเสมอและต่อเนื่องยาวนานว่าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าพ่อแม่จะปรากฏตัวตรงเวลาเสมอ และสิ่งมีชีวิตทั้งสองนั้นมีอยู่จริง ความมีอยู่จริงเป็นจุดกำเนิดของจิตวิทยาพัฒนาการทุกขั้นตอนที่จะติดตามมาดังที่เรียกว่า บันได 7 ขั้นสู่ศตวรรษที่ 21
การอ่านนิทานก่อนนอนยังมีประโยชน์ข้อที่สองคือ ช่วยเตรียมคลื่นสมองการนอนให้เข้าที่ก่อนเข้าสู่โหมดการนอนที่มีคุณภาพ หลังจากสนุกสนานมาทั้งวัน หรือถูกดุด่าว่าตีมาทั้งวัน เวลา 30 นาทีก่อนเข้านอนกับเสียงของพ่อแม่จะช่วยสงบคลื่นสมองให้เข้าที่เข้าทางเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่การนอนหลับ
การนอนหลับของคนเราแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือระยะไม่ฝันและระยะฝัน (Non-REM & REM sleep) เมื่อคนเรานอนหลับจะเข้าสู่ระยะไม่ฝันระยะที่ 1 ก่อน จากนั้นจะผ่านระยะที่ 2-3-4 แล้วเข้าสู่ระยะฝันรอบที่ 1 จากนั้นจะลัดขั้นตอนเข้าสู่ระยะไม่ฝันระยะที่ 2-3-4 แล้วเข้าสู่ระยะฝันรอบที่ 2 เป็นเช่นนี้เรื่อยไป
เวลาตั้งแต่เริ่มหลับจนถึงระยะฝันรอบแรกใช้เวลา 70-90 นาที โดยที่ระยะฝันรอบแรกกินเวลาประมาณ 5 นาที ส่วนระยะฝันรอบที่สองจะเกิดขึ้นหลังจากการนอนหลับประมาณ 3 ชั่วโมงและกินเวลาประมาณ 10 นาที เด็กๆ มักไม่มีระยะฝันรอบที่ 1
หลังจากระยะฝันรอบที่สองแล้ว กระสวนของวงจรการนอนนี้จะเกิดขึ้นทุก 90 นาทีโดยที่ระยะฝันจะนานขึ้นเรื่อยๆ อาจจะนานได้ตั้งแต่ 15 นาทีถึง 1 ชั่วโมง คนเรามักจะจำได้เฉพาะความฝันเรื่องสุดท้าย คือเลขสามตัว
จะเห็นว่าการนอนหลับและความฝันมีรูปแบบจำเพาะและเด็กๆ ต้องการการนอนที่ดี ดังนั้นการอ่านนิทานก่อนนอนจะช่วยให้คลื่นสมองสงบลง เข้าที่ แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่ระยะต่างๆ ของการนอนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org