อ่านนิทานได้อะไร?
1. สร้างแม่ที่มีอยู่จริง (mother)
เด็ก 1 คนต้องการมนุษย์ 1 คนเพื่อใช้เป็นเสาหลักของพัฒนาการ มิได้ต้องการวานร (เช่น ทาร์ซาน) หรือหมาป่า (เช่น เมาคลี) แต่ต้องการคน คนนั้นควรเป็นแม่เพราะแม่ได้ทำหน้าที่นี้มา 9 เดือนแล้วมีความได้เปรียบทางชีววิทยา
อย่างไรก็ตามหากแม่ทำหน้าที่นี้มิได้เพราะเหตุใดก็ตาม เช่น ตายหรือทิ้งลูก พ่อ 1 คน (ซึ่งมีเพศสภาพและเพศวิถีอะไรก็ได้) หรือพี่เลี้ยงเด็กกำพร้า 1 คนสามารถทำงานนี้ได้ รวมทั้งในกรณีที่ครอบครัวหย่าร้าง พ่อ 1 คนหรือแม่ 1 คนก็พอเพียง อย่ามัวแต่ทนเพียงเพราะกลัวลูกมีปัญหา ทะเลาะและตบตีกันให้ลูกเห็นทุกวันเขาจะมีปัญหามากกว่ามาก หรือในกรณีครอบครัวแตกกระสานซ่านเซ็น (เพราะทั้งพ่อและแม่ไปทำงานหรือหย่าร้างแล้วทั้งสองฝ่ายต่างทิ้งลูกเอาไว้ตรงกลาง) ปู่ย่าตายายเพียง 1 คนก็ทำหน้าที่นี้ได้ สำคัญคือคนคนนั้นต้องมีอยู่จริง
ความมีอยู่จริง (exist) ได้จากการเลี้ยงดูด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ (consistently) และต่อเนื่อง (continuously) แต่เนื่องจากในความเป็นจริงมีพ่อแม่น้อยคนมากที่จะมีเวลาเลี้ยงลูกด้วยตนเองตลอดทั้งวัน พ่อแม่จำนวนมากต้องไปทำงานแล้วฝ่าการจราจรกลับถึงบ้านมืดค่ำ การอ่านนิทานก่อนนอนตรงเวลาทุกคืนจะเท่ากับการประกัน (assurance) ว่าพ่อแม่จะปรากฏตัวที่หน้าห้องนอนและบนเตียงนอนตรงเวลาอย่างแน่นอน เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ปีละประมาณ 300-360 วัน เด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้จากจังหวะ (rhythm) การปรากฏตัวของท่านว่าท่านมีอยู่จริง
มิใช่มนุษย์ล่องหน
2. สร้างสายสัมพันธ์ (attachment)
เด็กจะพัฒนาได้เมื่อเขาล่ามสายสัมพันธ์เอาไว้กับเสาหลักคือแม่ จากนั้นเขาจะเดินจากไป ในระยะแรกเขาจะหันกลับมาเป็นระยะๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเสาหลักไม่หายไปไหน ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปเขาจะไว้ใจแม่ซึ่งอยู่ข้างหลังเสมอ ตามด้วยไว้ใจโลก เขาสามารถเดินห่างไปมากขึ้นด้วยความมั่นใจว่าเขาจะไม่ถูกทอดทิ้งอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นในจักรวาลก็ตาม
จักรวาล (universe) อยู่ในหนังสือนิทาน แม้ว่าสภาพทางภูมิศาสตร์จะเป็นห้องนอน ไม่ว่าจะมีแอร์หรือไม่มีแอร์ พ่อรวยหรือแม่จน แต่เด็กมิได้อยู่ในห้องนอนเขาอยู่ในเล่มหนังสือคือจักรวาล อย่างไรก็ตามเขาจะออกมาจากจักรวาลเป็นครั้งๆ เพื่อเงยหน้าดูหน้าแม่ เพื่อให้แน่ใจว่าแม่มีอยู่จริงและยังคงอยู่ มิใช่เปิดเทปแล้วหนีไปไหน เมื่อมั่นใจแล้วเขาจะผลุบลงไปในเล่มหนังสืออีกครั้งหนึ่ง แล้วเข้าๆ ออกๆ อยู่เช่นนั้น
สายใยบางๆ ที่ล่ามลูกไว้กับแม่คือสายสัมพันธ์ วันนี้ผจญภัยในจักรวาลหนังสือ วันหน้าจึงพร้อมเผชิญภัยในโลกแห่งความเป็นจริง (reality)
3. ตัวตน (self)
เด็กสร้างตัวตนเป็นขั้นตอนที่ 3 ต่อเนื่องจากการสร้างแม่และสร้างสายสัมพันธ์
เมื่อตั้งครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์คุณภาพอยู่นาน 9 เดือน มีสายรก (placenta) ที่ดีคอยส่งอาหารและวิตามินไปให้แก่ตัวอ่อน (fetus) ตัวอ่อนค่อยๆ เจริญเติบโตเป็นทารก (infant) ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่ด้วยสายรกที่จับต้องได้และมองเห็นด้วยตาเปล่า สูติแพทย์ตัดสายรกนี้ทิ้งเมื่อคลอด
กระบวนการทางจิตวิทยาทำซ้ำตนเองอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทารกออกมาสู่โลกภายนอกเขาต้องสร้างแม่ที่มีอยู่จริงก่อน (ถ้ามีร่างกายของแม่อยู่ให้สร้าง) แล้วสร้างสายสัมพันธ์ล่ามตนเองไว้กับแม่ (ถ้าแม่จะรู้จักอยู่กับที่ให้ผูก) จากนั้นด้วยแม่ที่ชัดและสายสัมพันธ์ที่แข็งแรง ทารกจึงจะสร้างตนเองเป็นบุคคลใหม่เมื่อ 3 ขวบ แล้วแยกตนเองออกไปเป็นบุคคลอิสระหลังจาก 3 ขวบ (separation-individuation)
ตอนที่แม่อ่านหนังสือนิทานก่อนนอน ทารกนอนแอบอิงข้างๆ เขายังมีอายุไม่ถึงสามขวบ เขามิใช่บุคคลอิสระแต่อยู่ระหว่างการสร้างตัวตน ตัวตนของเขาและตัวตนของแม่เป็นหนึ่งเดียว เวลาเขาดำดิ่งลงไปในจักรวาลซึ่งอยู่ในหนังสือ ส่วนหนึ่งของคุณแม่ตามลงไปด้วย อยู่ด้วยกันเป็นเพื่อนกัน แม้ว่าแม่จะหลับไปแล้วก็ตาม
หน้าที่อ่านนิทานก่อนนอนเป็นเรื่องที่คุณพ่อทำได้ง่ายมาก ก็แค่อ่านหนังสือออก และถึงแม้ท่านจะเหนื่อยจากงานและหลับคาหนังสือ ไม่นับว่าอ่านผืดผืดเถิกเถิก ตามหนังสือก็ตาม ลูกนำบางส่วนของตัวตนของท่านดำดิ่งลงไปในเล่มหนังสือด้วยเสมอ ตัวตนที่ติดกันทั้งในห้องนอนและในจักรวาลหนังสือนั้นเองจะช่วยให้ตัวตนของเขามีความชัดเจนและแข็งแกร่งมากขึ้นทุกวัน
ตัวตนคืออะไร ตัวตนคือประธานของประโยค เอาไว้กิน นอน เดิน วิ่ง แล้วผจญภัยไปในโลกนับจากนี้ ถ้าตัวตนชัดเขาจึงมีตัวตนให้ดูแล ถ้าตัวตนไม่ชัดเขาไม่รู้จะดูอะไร เงยหน้ามองแม่ก็ไม่มีอยู่จริง ก้มหน้าดูร่างกายของตนเองก็ไม่เห็นจะมีเหมือนกัน ดังนั้นจะเหลวแหลกอย่างไรก็ไม่ต่างกันในเมื่อมันไม่มีอยู่แล้วตั้งแต่แรก
4. เป็นตัวเอก (protagonist)
เพราะเด็กเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง (egocentricism) เขาจึงพร้อมที่จะสวมรอย (identify) ตัวเอกในหนังสือนิทาน ไม่ว่าตัวเอกนั้นจะเป็นคนหรือเป็นสัตว์ก็ตาม
ตัวตนจะเป็นประธานของประโยค ตัวเอกก็จะเป็นประธานของประโยคเช่นกัน ตัวเอกผจญภัยเข้าไปในหนังสือ ไม่ว่าจะบนบก ใต้น้ำ ท้องฟ้า อวกาศ นรก หรือสวรรค์ ตัวตนของลูกก็ไปด้วย จึงมีคำกล่าวว่าจะห้องนอนหรือห้องขังก็ขังลูกเรามิได้ถ้าเขารักการอ่านหนังสือ และไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใดในอนาคตเขาจะหนีลงไปในหนังสือได้เสมอๆ
ยังมีต่ออีกหลายสิบข้อ
*สรุปความจากคำบรรยายให้แก่คณะครูจำนวนประมาณ 500 คนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์ ซึ่งได้กรุณาช่วยทำสไลด์นิทานหลายเรื่องประกอบคำบรรยายทางวิชาการ
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org