5. ตัวเอกพัฒนา (self esteem)
เด็กเกิดมาเพื่อพัฒนา (develop)
เด็กคนหนึ่งจะพัฒนาได้ต้องการองค์ประกอบสำคัญคือแม่ที่ไว้ใจได้ เหลียวหลังเมื่อไรก็ได้เห็น ในห้องนอนที่แม่กำลังนอนอ่านนิทานกับลูก ลูกกำลังสวมรอยเป็นตัวเอกผจญภัยไปในนิทาน เมื่อไรที่ตัวเอกพบอุปสรรคหรือเรื่องน่ากลัว เสียงแม่จะเป็นเครื่องปลอบประโลมว่าแม่ยังอยู่ และถ้าแม่เงียบไป ตัวเอกจะหยุดชะงัก หน้ากระดาษถูกพลิกค้างไว้ แล้วลูกจะเงยหน้าหันดูแม่ว่ายังอยู่หรือเปล่า
ส่วนใหญ่แม่หลับ ถ้าเป็นพ่ออ่าน หลับเร็วกว่า
แม่เป็นต้นแบบ (prototype) ของจักรวาล ว่าจักรวาลนั้นไว้ใจได้เหมือนแม่ที่ไว้ใจได้ คำสำคัญคือความไว้ใจ (trust) เป็นองค์ประกอบที่สองของการพัฒนา ถ้าโลกไม่น่าไว้ใจเด็กจะหยุดพัฒนาหรือพัฒนาล่าช้า
องค์ประกอบที่สามคือความสามารถที่จะรู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง เราเรียกว่า self-esteem ซึ่งอาจจะแปลว่าความรักตนเอง มั่นใจตนเอง ภูมิใจตนเองก็ได้ แต่คำนิยามที่ดีกว่าคือเด็กรู้ว่าเราทำอะไรได้บ้าง
ในชีวิตจริงเด็กสูญเสียเซลฟ์เอสตีมได้ด้วยเหตุสารพัด บ้านที่พ่อแม่ห้ามทุกเรื่อง ตำหนิบ่อยๆ หรือโรงเรียนที่คอยพูดว่าเด็กช้า รั้งท้าย ที่โหล่ แต่ในหนังสือนิทานที่เขากำลังสวมรอยตัวเอกเขาสามารถไปได้ในโลกใหม่โดยง่าย พัฒนาตนเองไปตามตัวเอกที่ผจญภัย ฝ่าฟันอุปสรรค สู้พ่อ (มด) แม่ (มด) หรือเหล่า (ครู) ร้าย เด็กไม่มีเพื่อนได้มีเพื่อนในนิทาน เด็กไม่มีพ่อแม่ได้มีพ่อแม่ในนิทาน เด็กที่ถูกขังทั้งวันได้หนีออกจากที่คุมขังในนิทาน เหล่านี้ช่วยให้ตัวตนสามารถพัฒนาไปข้างหน้า
6. วัตถุมีอยู่จริง (object constancy)
วัตถุมีอยู่จริงเรียกว่า object constancy ตอนทารกเกิดใหม่ แม่หายไปจากสายตาคือหายไปจากจักรวาล วัตถุอื่นๆ ก็เช่นกัน จนถึงวันที่เขารู้ว่าแม่มีจริง แม้หายไปจากสายตาก็มิได้หายไปจริงๆ เมื่อนั้นวัตถุอื่นจึงจะมีอยู่จริงตามมา แม่เป็นต้นแบบของการสร้างวัตถุอื่นๆ
บนหน้ากระดาษนิทานมีวัตถุมากมาย วัตถุนั้นมิได้อยู่บนแผ่นกระดาษ วัตถุบนแผ่นกระดาษอยู่ในโลกนิทานรอบตัวเอกซึ่งกำลังผจญภัย หน้าต่อหน้า แผ่นต่อแผ่น วัตถุหนึ่งข้ามจากหน้าหนึ่งไปปรากฏที่อีกหน้าหนึ่งเสมอ ช่องว่างระหว่างหน้าที่หายไป (gap) คือบริเวณที่ว่างเปล่า (space) ที่เด็กจะต้องเติมวัตถุลงไปอยู่เรื่อยๆ วัตถุจึงมีอยู่จริง
7. คนอื่นที่มีอยู่จริง
วัตถุเป็นคำรวมๆ เรียกว่า object กินความรวมถึงผู้คนและสรรพสิ่ง คือสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา ก้อนหิน ลำธาร เครื่องเรือน เครื่องใช้ สารพัดที่จะปรากฏในนิทาน
กล่าวเฉพาะผู้คน ผู้คนมิได้มีอยู่จริงจนกว่าสายสัมพันธ์ (attachment) กับแม่จะแข็งแรงมากพอ เมื่อสายสัมพันธ์มีมากพอและแข็งแรงพอ ทั้งล้นเหลือและทอดออกไปห่างจากร่างกายแม่ได้เป็นระยะทางไกล สายสัมพันธ์ที่มากพอนั้นจึงมีเหลือเฟือให้เด็กใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนและสรรพสิ่ง เรียกว่า object relation
ในหน้านิทาน ช่วงสั้นๆ เพียงครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน คือช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่ไปไหน วางมือถือและอ่านนิทานด้วยกัน เวลาสั้นๆ นั้นเองที่สายสัมพันธ์มีปริมาณมากมาย เหมือนกัมมันตรังสีที่มีพลังล้นเหลือ พลังนั้นไม่จ่ายไปไหนเพราะมือถือได้ถูกวางแล้ว ไม่มีอะไรให้พ่อแม่วอกแวก พลังงานของสายสัมพันธ์จ่ายให้แก่ลูกเพียงคนเดียว หรือถ้ามีลูกหลายคนก็จ่ายไปตามลำดับความสำคัญของพี่คนโตไปจนถึงน้องคนสุดท้องตามลำดับ อย่าลืมว่าทุกคนอยู่ในนิทาน
พลังงานสายสัมพันธ์ที่ล้นเหลือจะมีพอแจกจ่ายให้แก่ตัวละครทุกๆ ตัวในนิทาน
8. ปฏิสัมพันธ์ (interaction)
โลกเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์
หากทารกหรือเด็กเล็กนอนนิ่งในห้องปฏิบัติการที่ไร้สิ่งเร้า โลกจะไม่เกิดขึ้นเหตุเพราะโลกเงียบเกินไป ทารกไม่ปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เงียบ ลูกลิงที่ดูดกินนมจากหุ่นลิงจึงไม่โตเพราะหุ่นลิงแข็งกระด้างนั่งเฉยอยู่เช่นนั้น แม่ที่เฉยเป็นหุ่นก็เช่นกัน ลูกลิงที่ดูดนมจากแม่ลิงจริงๆ จึงเติบโตได้เพราะไม่เพียงแม่มีอยู่จริง แต่โลกมีอยู่จริงด้วย อวกาศขยายตัวออกจากร่างกายของตนเองกลายเป็นโลกใบใหญ่ที่ร่างกายของตนเองสามารถขยายตาม
แม่ลิงมีปฏิสัมพันธ์กับลูก แม่คนก็ควรทำเช่นนั้น
ในหน้านิทาน ลูกกำลังสวมรอยตัวเอก แล้วมีปฏิสัมพันธ์กับก้อนหินดินน้ำ ต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้าดวงดาว เช่นนี้โลกเกิดขึ้นได้เพราะทุกประการล้วนมีชีวิต นิทานนั้นมีตัวละครหลากหลาย เช่น สัตว์ที่พูดได้ หรือคนที่พูดได้ ตัวเอกมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครเท่ากับสร้างโลกขึ้นมา มันคือโลกนิทานที่อยู่ในหน้ากระดาษ และเด็กๆ มิใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นตัวเอกที่เดินไปในโลกนิทานและพูดคุยกับสรรพสิ่งทั้งสัตว์และคน
โลกในห้องนอนครอบโลกในนิทานไว้ชั้นหนึ่ง พ่อแม่ที่นอนข้างๆ มีอยู่จริงเสมอ อ่านนิทานไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง รอยต่อระหว่างสองโลกจึงจะบังเกิดขึ้น เด็กๆ ผลุบเข้าออกระหว่างสองโลกอยู่ตลอดเวลา
หน้ากระดาษ 1 หน้า คือโลก
ตอนต่อไป สร้างโลก
*สรุปความจากคำบรรยายให้แก่คณะครูจำนวนประมาณ 500 คนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์ ซึ่งได้กรุณาช่วยทำสไลด์นิทานหลายเรื่องประกอบคำบรรยายทางวิชาการ
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org