11. Conservation
พัฒนาการเด็กมีหมุดหมายเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่อยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งคือเรื่อง object constancy ซึ่งแปลว่าความมีอยู่จริงของวัตถุหรือวัตถุที่มีอยู่จริง เรื่องที่สองคือเรื่องนี้ conservation ซึ่งแปลว่าคงไว้ หรือคงไว้ซึ่งความมีอยู่
คำสำคัญอีกคำหนึ่งคือคำว่าความมีอยู่ (exist) เช่น แม่ที่มีอยู่จริงหรือความมีอยู่จริงของแม่
ฌอง เพียเจต์ เป็นผู้เขียนบรรยายงานสังเกตการณ์ที่มีชื่อเสียงนี้ เมื่อเราให้เด็กอายุน้อยกว่า 8 เดือนเล่นของเล่นชิ้นหนึ่งแล้วเราเอาผ้าไปคลุม เด็กจะเลิกเล่นเพราะไม่เห็นคือไม่มี
เพียเจต์ใช้คำว่า object permanence ในขณะที่ เมลานี ไคลน์ ใช้คำว่า object constancy เด็กที่อายุมากกว่า 8 เดือนจะพลิกผ้าออกเพื่อเล่นต่อเพราะรู้แล้วว่าวัตถุมีอยู่จริง
ก่อนที่วัตถุจะมีจริง แม่ต้องมีจริงก่อน นั่นคือแม่ที่อ่านนิทานก่อนนอนอยู่ข้างๆ ทุกคืน ตรงเวลา
ตอนที่แม่พลิกหน้ากระดาษ ภาพหายไปชั่วคราว แล้วภาพต่อไปปรากฏขึ้น ตัวละครที่หายไปกลับมาอีกครั้งหนึ่ง เราทำเช่นนี้ทุกคืน อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน (consistently & continuously) ตัวละครจึงมีอยู่จริงและมีชีวิตอีกด้วย (animism)
หมุดหมายที่สองคือที่อายุ 8 ปี เป็นงานทดลองและสังเกตการณ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเพียเจต์อีกเช่นกัน เมื่อเราเทน้ำจากภาชนะทรงสูงลงบนจาน เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปีจะบอกว่าน้ำในจานมีจำนวนน้อยกว่า (เด็กจะใช้คำอื่น ไม่ใช้คำว่าจำนวน) แต่เด็กที่อายุมากกว่า 8 ปีโดยประมาณและถ้าอ่านหนังสือนิทานก่อนนอนมาตลอดควรจะเร็วกว่านี้จะตอบว่าน้ำในภาชนะทรงสูงกับในจานมีปริมาณเท่ากัน (เด็กจะใช้คำอื่น ไม่ใช้คำว่าปริมาณ) นี่คือความสามารถมหัศจรรย์และน่าตื่นใจที่สุดเรื่องหนึ่งคือการคงไว้ซึ่งความมีอยู่ (conserve the existence)
ความมีอยู่ของอะไร คือความมีอยู่ของสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาโดยง่าย เริ่มจากความกว้าง ความยาว ความสูง ปริมาณ ปริมาตร และน้ำหนัก ตามด้วยคำที่ยากยิ่งขึ้น เช่น มวล
จะเห็นว่าคำศัพท์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีคำศัพท์สมองก็ไม่พัฒนา เพราะไม่รู้จะเอาอะไรใส่ในสมอง คำศัพท์จึงเป็นภาชนะหรือยานพาหนะสำหรับใส่ความคิดและบรรทุกความคิด
มีคำถามเสมอว่าเล่านิทานได้ไหม ไม่อ่านนิทานได้ไหม คำตอบคือได้
แต่การเล่านิทานมักได้คำศัพท์น้อยกว่าการอ่าน พวกเราเล่านิทานใช้คำศัพท์ไม่กี่คำหมุนวนไปมา เปรียบเทียบกับการอ่านนิทานก่อนนอนทุกคืนและอ่านอย่างหลากหลายเด็กได้รับคำศัพท์ใหม่ๆ ทุกๆ คืน หนังสือและงานวิจัยจำนวนมากมายที่ให้ตัวเลขคำใหม่ที่สมองเด็กบรรจุได้ในแต่ละวันต่างๆ กันไป แต่โดยรวมๆ คือ ‘เยอะ’
การเล่านิทานก่อนนอนก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย อีกครั้งหนึ่ง ทำไมต้องก่อนนอนเพราะก่อนนอนเป็นการประกันเวลาว่าพ่อแม่จะปรากฏตัวและมีอยู่จริงอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้ข้อเท็จจริงในปัจจุบันที่ว่าทุกคนไปทำงานและกว่าจะฝ่าการจราจรขึ้นทางด่วนแล้วลงไม่ได้เพราะเขาปิดช่องทางลง กว่าจะถึงบ้าน มันนานมาก
การอ่านนิทานอาจจะมิได้พัฒนา conservation ตรงๆ แต่การอ่านนิทานสร้างคลังคำแน่ ในเวลาไม่นานเด็กๆ จะมีคำว่า ‘น้ำหนัก’ และคำว่า ‘ปริมาตร’ ให้ใช้ คำศัพท์ปริมาตรยากกว่าคำว่าน้ำหนัก จะมีโอกาสปรากฏก็แต่ในหนังสือเพราะมิใช่ภาษาพูดทั่วไป แล้วเขาจะคงไว้ซึ่งความมีอยู่ได้มากขึ้น มั่นคงขึ้น
ความสามารถที่จะคงไว้ซึ่งความมีอยู่อาจจะฟังดูไม่เป็นประโยชน์อะไรกับชีวิตมากนัก แต่มันเป็นหมุดหมาย หมุดหมายแปลว่าอะไร หมุดหมายแปลว่าไม่มีหมุดนี้เพราะถูกขโมยหายไปจากผืนดินในตอนกลางคืนก็จะไม่มีเรื่องอื่นๆ ที่จะติดตามมา หมุดหาย ที่เหลือก็หายไป
ไม่มีหมุดจะไม่มีความสามารถอื่นๆ ติดตามมา
12. Decentration
ความสามารถถัดมาเราเรียกว่า decentration แปลตามตัวว่าลดศูนย์กลางลง
งานสังเกตการณ์ถัดไปของเพียเจต์คือเรื่องให้เด็กมองแถวของไข่และแถวของแก้วที่มีจำนวนเท่ากัน เช่น ไข่หกฟองและแก้วหกใบ โดยตั้งให้มีความยาวเท่ากัน เมื่อเรายืดไข่หกฟองให้ทิ้งระยะห่างขึ้นจนกระทั่งแถวของไข่ยาวกว่าแถวของแก้ว เด็กเล็กจะพูดว่าไข่มีจำนวนมากกว่าแก้ว ในขณะที่เด็กที่อายุมากกว่า 8 ขวบจะพูดว่าเท่ากัน
จะเห็นว่าเด็กทำได้เมื่อเขาคงไว้ซึ่งความมีอยู่ของจำนวนได้และสามารถมองเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘มิติ’ ได้ นำไปสู่ความเข้าใจที่ยากมากขึ้นอีกข้อหนึ่งคือความเข้าใจเรื่องมิติ (dimension)
โลกของเด็กมี 1 มิติในตอนแรก 1-dimension ก่อนที่จะขยายเป็นสองมิติและสามมิติในเวลาต่อมา (2-dimension, 3-dimension) ตอนที่เขามีหนึ่งมิตินั้นเขา centrate ไม่ decentrate แปลว่ามองมุมเดียวจากจุดเดียวที่ตนเองเป็นศูนย์กลางก็ได้
หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กหลายเล่มเป็นสองมิติ กล่าวคือวาดตัวละครเป็นภาพแบนราบ ลงสีเรียบๆ ไม่มีความชัดลึก นอกจากไม่มีความชัดลึกแล้วบางเล่มไม่มีแม้กระทั่งมุมมองคือ perspective เด็กนอนดูรูปไปจะพบว่าตัวละครหรือภูเขาแม่น้ำแบนราบท่าเดิมโดยไม่เปลี่ยนรูปทรงเลยในแต่ละหน้าที่ผ่านไปแม้ว่ามุมมองของตัวละครจะเปลี่ยนไป
มากไปกว่านี้คือการลงสีเรียบ ตัดเส้นชัด หนังสือเด็กกลุ่มนี้เป็นสองมิติชัดแจ้ง ซึ่งเด็กๆ ชอบ
หนังสือนิทานประกอบภาพหลายเล่มมีภาพเป็นสามมิติด้วยมุมมอง ลงสีมีความชัดลึกและไม่ตัดขอบ ทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นสามมิติและเปลี่ยนไปตามมุมมองของตัวละครหรือตัวเด็กเอง ด้วยวิธีนี้เด็กจะลด centration ลงแล้ว decentrate ภาพที่เห็นไปเรื่อยๆ โลกเป็นจริงและเข้าใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที
เรื่อง concervation และ decentration นี้สำคัญมากและแปลไทยยาก อธิบายยาก ข้อเขียนนี้มีความตั้งใจทำให้ผู้อ่านมึนงงและจำเป็นต้องใช้จินตนาการเข้าช่วยเพราะมิเช่นนั้นแล้วเราไม่อาจจะเข้าใจได้เลยว่าเด็กเล็กเขา conserve และ decentrate อะไร อย่างไร
เป็นสองเรื่องที่สำคัญยิ่งยวดเพราะหากไม่เรียบร้อยความสามารถถัดๆ มาก็จะไม่เรียบร้อยตามไปด้วย นั่นคือคณิตศาสตร์
*สรุปความจากคำบรรยายให้แก่คณะครูจำนวนประมาณ 500 คนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์ ซึ่งได้กรุณาช่วยทำสไลด์นิทานหลายเรื่องประกอบคำบรรยายทางวิชาการ
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org