13. การจัดกลุ่ม (Grouping)
โดยไม่ต้องสอนเด็กจัดกลุ่มสรรพสิ่งเป็นด้วยการนอนดูและฟังแม่อ่านนิทาน เรื่องแรกๆ คือแยกสัตว์ออกจากคน แม้ว่าสัตว์หลายตัวในนิทานจะแต่งตัวเป็นคนและพูดภาษาคน (anthropomorphism) เด็กรู้เสมอว่าพวกนั้นเป็นสัตว์มิใช่คน
ทำไม
เพราะแม่มีอยู่จริงมาก่อนแล้ว และใบหน้าแม่นั้นมิใช่ใบหน้าของสัตว์ งานแรกๆ ของทารกคือจับภาพใบหน้ามนุษย์ (face recognition) อันที่จริงแล้วงานวิจัยสมัยใหม่พบว่าเด็กแยกพืชออกจากสัตว์ได้ด้วยตนเองอีกด้วย สัตว์เดินได้แต่พืชเดินไม่ได้ แม้ว่าทั้งสองอย่างจะทั้งเดินได้และพูดได้ในนิทานก็ตาม
ทำไม
เพราะแม่มีอยู่จริงมาก่อนแล้วอีกเช่นกัน แม่ที่มีอยู่จริงเป็นต้นทางของจิตวิทยาพัฒนาการที่หลายเรื่องเราก็ยังไม่สามารถหาคำอธิบายที่ดีได้ว่าทำไมแม่ที่มีอยู่จริงจึงสำคัญนักหนา
เราให้เด็กดูสิ่งมีชีวิตกองหนึ่ง คน สัตว์ พืช เด็กคนไหนก็จัดได้ ส่วนหนึ่งเพราะเขาสามารถคงไว้ซึ่งความมีอยู่และมองหลากหลายตัวแปรได้ (conserve&decentrate) ดังที่เขียนในตอนที่แล้ว
ข้อสอบอนุบาลจึงไม่จำเป็นต้องสอนให้เด็กจัดกลุ่มสัตว์ตามที่เรากำหนดเสมอไป เช่น ออกลูกเป็นไข่ หรือออกลูกเป็นตัว บินได้หรือบินไม่ได้ ว่ายน้ำได้หรือว่ายน้ำไม่ได้ ความรู้เหล่านี้ดีและสำคัญแต่จะลดความสำคัญลงเมื่อโลกเข้าสู่ยุคใหม่ เด็กต้องการความสามารถที่จะจำแนกและแบ่งกลุ่มด้วยตนเองมากกว่าและด้วยตัวแปร parameter ที่ตนเองกำหนดขึ้น
14. การจำแนก (Classification)
การจำแนกเป็นความสามารถที่มาพร้อมกับการจัดกลุ่ม เราไม่แน่ใจนักว่าอะไรเกิดก่อนอะไรเกิดหลัง เมื่อเราให้เด็กๆ เดินหาดทราย เขาจำแนกหิน เปลือกหอย และพลาสติกออกจากกันได้เองแล้วจัดวางเป็นกองๆ ให้เรียบร้อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ การศึกษาที่อนุญาตให้เด็กได้ออกจากห้องเรียนแล้วเดินป่าเพื่อจำแนกและแบ่งกลุ่มสรรพสิ่งจะมีประโยชน์ต่อพัฒนาการสมองมากกว่ามาก
มีบางเรื่องที่เราจำแนกด้วยสายตา แต่เรื่องหลายเรื่องบนโลกไม่สามารถจำแนกด้วยสายตา ความสามารถในการจำแนกเป็นเรื่องสำคัญ
15. การจัดอันดับ (Ordering)
เด็กจัดอันดับได้เองอีกเช่นกัน จากเล็กไปใหญ่หรือจากใหญ่เป็นเล็ก เป็นเรื่องที่พวกเขาฝึกทำได้เองจากการเล่นบนกองทราย กองหินและกองดิน เด็กบางคนสามารถเรียงลำดับเฉดสีได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยตัวแปรที่เขากำหนดขึ้นเองด้วย
การจัดอันดับเป็นส่วนย่อยของการแบ่งกลุ่มด้วย เช่น เมื่อเด็กแบ่งกลุ่มตัวละครในหนังสือนิทานได้ เช่น กลุ่มผู้ร้ายประกอบด้วย พ่อมด แม่มด องครักษ์ ทหารเลว อสูร หมาป่า ค้างคาว นกฮูก ปืนใหญ่ ยาพิษ เขาควรเรียงลำดับอย่างไร เป็นต้น
เวลาเราเปิดนิทานหนึ่งเล่ม ลองพยายามแบ่งกลุ่มสรรพสิ่งและจัดอันดับสรรพสิ่ง เราจะพบว่าทำมิได้ง่ายๆ เพราะที่แท้แล้วของสิ่งหนึ่งหรือตัวละครตัวหนึ่งสามารถอยู่ได้ในสองกลุ่มพร้อมๆ กันและไม่รู้จะวางอันดับความสำคัญไว้ที่ตรงไหนอีกต่างหาก
การท่องหนังสือนั้นง่าย แต่การอ่านยังประโยชน์ต่อพัฒนาการของสมองมากกว่ามาก
16. การกำหนดตัวบ่งชี้ (Seriation)
การกำหนดตัวบ่งชี้เป็นเรื่องที่ยากมากยิ่งขึ้นไปอีก เด็กๆ ใช้ตัวบ่งชี้อะไรในการจัดให้หลายสิ่งหลายอย่างเป็นพวกผู้ร้าย แล้วถ้าผู้ร้ายของผู้ร้ายเล่าจะเอาไปไว้ตรงไหน เช่น จระเข้ในเรื่องปีเตอร์แพนที่คอยจะตามงับมือกัปตันฮุคอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น จระเข้ตัวนี้ควรเป็นพวกไหน
กลับไปที่เรื่องการแบ่งกลุ่มสัตว์ เราให้เด็กอนุบาลแบ่งกลุ่มสัตว์ด้วยการกำหนดตัวบ่งชี้ให้เด็กท่องเป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าเราให้โอกาสเขากำหนดตัวบ่งชี้ด้วยตนเองเขาจะพัฒนาสมองสูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เช่น เด็กคนหนึ่งอาจจะแบ่งกลุ่มสัตว์ตามนิสัย ให้หนอน ผีเสื้อและปลาทองเป็นสัตว์ใจร้าย ในขณะที่ให้เสือโคร่ง งูเห่า และจระเข้เป็นสัตว์ใจดี ประเด็นมิได้อยู่ที่ผิดถูกแต่อยู่ที่เด็กได้ฝึกกำหนดตัวบ่งชี้
ความสามารถ 4 ประการคือ การแบ่งกลุ่ม การจำแนก การจัดอันดับ และการกำหนดตัวบ่งชี้ คือพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าคณิตศาสตร์ และเรื่องแรกคือการนับ
ผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กนับก้อนหินก่อน แต่ที่จริงแล้วการแบ่งกลุ่มและการนับเกิดพร้อมๆ กัน นอกจากนี้การจัดอันดับและการนับเกิดพร้อมๆ กันอีกด้วย ลองนึกดูว่าเราจะจัดอันดับได้อย่างไรโดยไม่นับ และทุกครั้งที่มีการนับจะเกิดการบวก หนึ่งบวกหนึ่งบวกหนึ่งได้สาม ในขณะเดียวกันทุกครั้งที่มีการแบ่งกลุ่มก็จะเกิดการนับ กลุ่มหนึ่งกลุ่มสองกลุ่มสาม ส่วนการลบเกิดขึ้นเมื่อมีการสลายกลุ่ม หรือเมื่อเด็กขว้างก้อนหินออกไปหนึ่งก้อน
การศึกษาไทยไม่เชื่อเรื่องนี้ การนับ การบวก และการลบ เกิดขึ้นได้เองจากการเล่น และเป็นการเกิดขึ้นด้วยกลไกธรรมชาติ นั่นแปลว่าเรามิได้ไปขัดขวางหรือทำลายกลไกทางธรรมชาติ ตรงข้ามกับการบังคับเด็กนับแล้วบวกด้วยกลวิธีทางคณิตศาสตร์ซึ่งเรากำลังข้ามขั้นตอนทางธรรมชาติ
หนังสือนิทานแทบทุกเล่มซ่อนเรื่องการแบ่งกลุ่ม การจำแนก การจัดอันดับ การกำหนดตัวบ่งชี้ การนับ การบวก และการลบ
ลองอ่านใหม่อย่างตั้งใจแล้วจะเห็น
*สรุปความจากคำบรรยายให้แก่คณะครูจำนวนประมาณ 500 คนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์ ซึ่งได้กรุณาช่วยทำสไลด์นิทานหลายเรื่องประกอบคำบรรยายทางวิชาการ
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org