17. ปฏิบัติการเชิงรูปธรรม (Concrete Operation)
ฌอง เพียเจต์ เขียนว่าเด็กพัฒนาวิธีคิดเชิงรูปธรรมระหว่างอายุ 8-12 ขวบ ก่อนหน้าอายุ 8 ขวบโลกเป็นเวทมนตร์คือ magic หลังจากอายุ 8 ขวบโลกเป็นตรรกะคือ logic
แต่ตรรกะหรือเหตุผลยังคงเป็นระบบที่สร้างขึ้นด้วยวัตถุที่เป็นรูปธรรมเสียมาก แปลง่ายๆ ว่าเห็นด้วยตาอย่างไรว่าอย่างนั้น เด็กยังมิได้นำอีกสองส่วนที่สำคัญเข้ามาในระบบเหตุผลเต็มรูปแบบ
ส่วนที่หนึ่งคือส่วนที่เป็นนามธรรม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
ส่วนที่สองคือตนเอง เด็กมิได้นำตนเองเข้ามาอยู่ในระบบเหตุผลด้วย พูดง่ายๆ ว่าเขาอยู่นอกกรอบสังเกตการณ์หรือกรอบอ้างอิง (frame of reference) ตรงนี้อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วยฟิสิกส์ของนิวตันและไอน์สไตน์
นิวตันเห็นแอปเปิลตกจากต้นด้วยความเร็วคงที่ เพราะนิวตันอยู่นอกกรอบอ้างอิง เขามิได้เอาตัวเองเข้ามาคำนวณด้วย เขาเห็น เขาคิด และได้คำตอบที่เป็นรูปธรรม เมื่อนึกถึงประเทศอังกฤษที่มีต้นแอปเปิลทั่วไปเหมือนบ้านเรามีต้นมะม่วง ก็ไม่น่าแปลกใจที่นิวตันจะคิดออกด้วยลูกแอปเปิล
ไอน์สไตน์ไม่เคยไปอวกาศด้วยตนเอง แต่เขาอธิบายสัมพัทธภาพด้วยปรากฏการณ์ในอวกาศได้เท่าๆ กับปรากฏการณ์บนพื้นโลก
ถ้าเราอยู่ในอวกาศที่มืดมิดไม่มีจุดอ้างอิง แล้วเห็นคนคนหนึ่งลอยเข้ามาหาเรา แปลได้ 4 กรณี คือ 1. เขาลอยมาหาเรา 2. เราลอยเข้าหาเขา 3. เขาลอยมาหาเราด้วยความเร็วสูงกว่าเราเคลื่อนถอยหลัง 4. เราลอยเข้าหาเขาด้วยความเร็วมากกว่าเขาเคลื่อนถอยหลัง จะเห็นว่าเราอยู่ในกรอบอ้างอิง และสิ่งที่เห็นเป็นสัมพัทธภาพ
ถ้าเราขับรถฝ่าสายฝน เห็นสายฝนตกเป็นมุมแหลมกระทบกระจกหน้าด้วยความเร็วสูง ในเวลาเดียวกันนั้นเอง คนที่อยู่ข้างถนนอาจจะบอกว่าฝนตกตั้งฉากกับพื้นดินด้วยความเร็วไม่สูงเท่าไรนัก
เด็กอายุ 8-12 ขวบยังไม่นำตนเองเข้ามาในสมการของระบบตรรกะ นี่คือข้อแตกต่างสำคัญ
เด็กนอนดูนิทานตั้งแต่เกิด ฟังเสียงแม่ที่อยู่ข้างๆ เขาอยู่นอกกรอบสังเกตการณ์ตลอดเวลา โดยทั่วไปพ่อแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังได้ประมาณไม่เกินอายุ 10 ปี พวกเขามักอ่านเอง กลายเป็นวัยทีน แล้วไม่นอนฟังพ่อแม่อีก (อย่ามาน้ำตาเช็ดหัวเข่าก็แล้วกัน)
อย่างไรก็ตามคำศัพท์ที่ปรากฏในนิทานมิได้มีเพียงคำศัพท์ด้านวัตถุ แต่มีคำศัพท์ที่มิใช่วัตถุมากมาย ทั้งคำนาม กริยา สันธาน วิเศษณ์ บุพบท คำอุทาน คำหยาบ และคำท้องถิ่น ปะเลอะปะเต๋อนักไบ๊นักง่าว
สมองของเด็กได้คำศัพท์เหล่านี้ไปมากมายตลอดระยะเวลา 7-10 ปีที่เขายอมนอนในห้องนอนเพื่อรอแม่อ่านนิทาน มีคำถามเสมอว่าเล่านิทานได้มั้ย คำตอบคือได้ แต่การเล่านิทานเด็กจะได้คำศัพท์หมุนเวียนของภาษาพูดประมาณ 2,000 คำ อย่างมากไม่เกิน 5,000 คำ แต่การอ่านเด็กจะได้คำศัพท์มากมายกว่านั้นหลายเท่า
อยากรู้ว่าคำศัพท์ใดเป็นรูปธรรม คำศัพท์ใดเป็นนามธรรมมิใช่เรื่องยาก ลองตั้งคำถามว่าเราถ่ายรูปได้ไหม เช่น ถ่ายรูปแมวให้ดูหน่อย คำตอบคือทำได้ หรือ ถ่ายรูปความเมตตาให้ดูหน่อย คำตอบคือทำไม่ได้ เว้นแต่จะไปหารูป เมตตา รุ่งรัตน์ นักแสดงที่งดงามและมีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในอดีตมาให้ดู
คำศัพท์นามธรรมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เด็กสามารถใช้ตนเองในสมการของตรรกะและลอยขึ้นเหนือตนเอง เหนือระบบความคิดของตนเอง แล้วมองลงมาเห็นระบบของตนเอง นี่คือเมตตาค็อกนิชั่น (metacognition) และถ้าเก่งพอก็จะก้าวข้ามตนเองไปได้ในที่สุด
18. ปฏิบัติการเชิงนามธรรม (Formal Operation)
ฌอง เพียเจต์ มิได้ใช้คำว่า abstract เขาใช้คำว่า formal ซึ่งกินความกว้างขวางกว่าคำว่านามธรรม และว่าที่จริงแล้วการเปลี่ยนผ่านจากรูปธรรมสู่นามธรรมก็เป็นคอนทินิวอั้ม (continuum) มิได้มีเส้นพรมแดนที่อายุ 8 ปีจริงๆ เด็กพัฒนาความสามารถในการเข้าใจคำศัพท์ทางนามธรรมแต่ละคำได้เรื่อยๆ ด้วยความเร็วช้าต่างกัน
มีคำถามเสมอว่าอ่านเทพนิยายหรือนิทานพื้นบ้านได้ไหม เจ้าหญิงนิทราถูกพรากพรหมจรรย์เพราะถูกทิ่มแทง สงสารแต่แม่ปลาบู่อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นิทานเหล่านี้ลามกหรือสยองขวัญเกินกว่าจะให้เด็กอ่านหรือเปล่า หนูน้อยไม้ขีดไฟน่ากลัวมากกว่าน่าสงสารหรือไม่ การ์ตูนดิสนีย์หลายๆ เรื่องรุนแรงและมีด้านมืดมากเกินกว่าที่จะให้เด็กเสพหรือไม่
คำตอบคือเด็กอ่านและดูได้ทั้งนั้น หากพ่อแม่นั่งอยู่ข้างๆ พ่อแม่จะเป็นฟองน้ำดูดซึมส่วนเกินออกจากตัวเขาในระดับพอดีๆ เสมอ เท่านี้เอง ด้วยวิธีนี้เขาจึงจะไม่ถูกปิดหูปิดตา แต่ได้เผชิญและเรียนรู้ความโหดร้ายของโลกและของมนุษย์มากเท่าที่เขารับได้ในแต่ละช่วงวัย
แน่นอนว่าหากจะมีบ้างที่เขาร้องไห้สะอึกสะอื้นเพราะพ่อซิมบ้าตายหรือแม่แบมบี้ตาย เราสามารถเก็บนิทานเล่มนั้นขึ้นชั่วคราว อีกหกเดือนก็เอาออกมาอ่านหรือดูใหม่ ลูกในอีกหกเดือนถัดไปมิใช่คนนี้ที่นั่งอยู่ข้างๆ เรา
ความเหงา ความเศร้า ความกลัว ความตาย
โกหก ลักขโมย กลั่นแกล้ง ฆาตกรรม อิจฉาริษยา
พิน็อคคิโอทั้งหนีโรงเรียน โกหก ดื่มเหล้า และสูบซิการ์ในการ์ตูนของดิสนีย์ ฉากที่เพื่อนของเขากลายร่างเป็นลาโง่ในการ์ตูนของดิสนีย์น่ากลัวมาก เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เด็กๆ ควรเผชิญโดยที่มีพ่อแม่นั่งอยู่ข้างๆ
รูปธรรมนามธรรมกำลังหลอมรวมเข้าหากัน หนังสือนิทาน สื่อออนไลน์ และหนังการ์ตูนกำลังเคลื่อนตัวเข้าหากัน เราไม่สามารถแยกเรื่องราวเหล่านี้ออกจากกันโดยเอกเทศ เราจำเป็นต้องพาลูกผ่านด้านมืดเหล่านี้ในวันที่เขายังมีเรา
พาลูกขี่ม้า เดินเลียบปีศาจ ให้เขาดู เขาจะไม่เป็นไรตราบเท่าที่แม่มีอยู่จริง
กลับไปข้อที่ 1 สร้างแม่ที่มีอยู่จริง
*สรุปความจากคำบรรยายให้แก่คณะครูจำนวนประมาณ 500 คนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ วันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่เมืองทองธานี จัดโดยสำนักพิมพ์แปลนฟอร์คิดส์ ซึ่งได้กรุณาช่วยทำสไลด์นิทานหลายเรื่องประกอบคำบรรยายทางวิชาการ
แหล่งข้อมูล www.thepotential.org