การอ่านสำคัญมากกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย
เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับการอ่านนิทานหรือหนังสือภาพ ของเด็กเล็กหรือเด็กปฐมวัย
เรามักจะพูดกันว่าการอ่านคือการเรียนรู้
แต่หลายคนอาจลืมไปว่าการ ‘อ่าน’ ของเด็กมีรูปแบบที่แตกต่างจากผู้ใหญ่
ครูก้า – กรองทอง บุญประคอง ครูและผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก
และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย)
ให้ความหมายการอ่านแบบเด็กเล็กว่า เป็นการอ่านด้วยประสาทสัมผัส
และ ‘อ่านเพื่อเรียนรู้โลก’ ที่ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว
.
“เด็กปฐมวัย (0-8 ปี) เขาเพิ่งเกิดมาเรียนรู้จักโลกไม่กี่ปี
โดยเฉพาะวัยที่เพิ่งเริ่มหยิบจับหนังสือคือแรกเกิดจนถึงประมาณ 6 ขวบ
การอ่านของเขาจะไม่เหมือนผู้ใหญ่เราที่ติดคุ้นเคย
เมื่อพูดถึงการอ่านว่าคือการอ่านตัวหนังสือออกหรืออ่านคำศัพท์ต่างๆ ได้
เด็กเล็กๆ เขาใช้ทุกประสาทสัมผัสในการ “อ่านโลก” ใบนี้ที่เขาได้สัมผัส
การอ่านของเด็กจึงเป็นความพยายามที่จะทำความรู้จัก ตีความ
หรือให้ความหมายกับทุกสิ่งที่เขาเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ชิมรส หรือได้สัมผัสจับต้อง
โดยที่ไม่ต้องรอให้รู้จักพยัญชนะและสามารถสะกดคำที่คนเขียนขึ้นมาให้ได้ก่อนถึงจะเกิดการเรียนรู้”
.
“หนังสือนิทานสำหรับเด็กเล็กในวัยที่ยังอ่านตัวหนังสือแบบสะกดคำไม่ออก
จึงเรียกอีกอย่างว่า “หนังสือภาพ”ในภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า “Picture Book”
ในการเรียกหนังสือประเภทนิทานสำหรับเด็กเล็ก
แค่การอ่านภาพอย่างเดียวก็สามารถกระตุ้นความสงสัย ให้คิดคาดเดาในสิ่งที่เห็น
มองความน่าจะเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์เดิมของเขา
เขาจะสนุกที่จะคิด และสนุกที่จะใช้จินตนาการมาผสมผสานกับการให้ความหมายของภาพที่เห็น
และอยากติดตามอยากรู้ให้มากขึ้นไปอีกในหน้าต่อๆ ไป หรือเล่มต่อๆ ไป
ขณะเดียวกันก็มีนิทานภาพบางเล่มที่ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ ได้ค่อยๆ คุ้นกับคำศัพท์บางตัว
ที่มีความหมายสอดคล้องกับภาพในนิทาน
และตั้งใจให้เด็กๆ ได้เห็นคำเหล่านั้นซ้ำๆ บ่อยในแต่ละหน้า
เช่น เมื่อได้ยินครูพูดคำว่า “แม่” ขณะกำลังเล่านิทาน
โดยภาพประกอบในหน้านั้นๆ ก็สื่อถึงความสัมพันธ์ของแม่ลูก
เมื่อได้ยินคำว่า “แม่” ทีไรก็จะมีคำว่า “แม่” ปรากฏให้เด็กๆ ได้เห็นในหน้านั้นๆ ด้วย เป็นต้น
แหล่งข้อมูล บทความ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อการอ่านในสายตาเด็กเล็ก ไม่ใช่แค่การสะกดคำ จาก FB เชียงใหม่อ่าน
จำนวนการเข้าชม :
775 ครั้ง
แชร์หน้านี้